กนย.สั่งทบทวนประกันรายได้ยางพาราเฟส2

01 มิ.ย. 2563 | 09:59 น.

​​​​​​​ประธานบอร์ด กยท.ฯ เผย "กนย." ติงงบประกันรายได้เฟส2 สูง ดึงกลับทวนใหม่ เล็งหั่นพื้นที่ชดเชยรายได้ต่ำกว่า 25 ไร่ หรือปรับระยะเวลาชดเชยใหม่ ยังไม่ได้ข้อยุติ ส่วน 4 มาตรการฉลุยปลุกเอกชนตื่นเร่งซื้อยาง

ที่ 1 มิถุนายน 2563 มีประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังนอก ทำเนียบรัฐบาล ในที่ประชุมได้มีวาระที่สำคัญ ถึงสถานการณ์ยางพารา ผลการดำเนินงานโครงการตามมติ กนย. รวมถึงการขออนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่2,โครงการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยาง จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19,ขออนุมัติเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน รวมทั้งขยายระยะเวลาเงินกู้ต่างๆ นั้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธานกรรมการ กนย.เป็นประธานในที่ประชุม

กนย.สั่งทบทวนประกันรายได้ยางพาราเฟส2

นายประพันธ์ บุณยเกียรติ ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  จากที่ ทาง กยท.ได้เสนอไปงบประมาณบายปลายไปมาก ในโครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 2 โดยงบประมาณ 4.4 หมื่นล้านบาท  ชาวสวน 1.8 ล้านราย  จากเดิมมีชาวสวนอยู่ 1.7 ล้านราย ซึ่งกำลังจะพยายามที่จะไม่ให้งบประมาณไม่บานปลายเมื่อไปเทียบกับงบประมาณที่ใช้ในประกันรายได้ระยะที่1 ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมี 2 แนวคิด ได้แก่ 1.ฐานเดิม 25 ไร่ อาจจะต่ำกว่า 25 ไร่ 2. อาจจะใช้ฐาน 25 ไร่เหมือนเดิม แทนที่จะเป็น 6 เดือน ก็เหลือแค่ 3 หรือ 4 เดือน ชดเชยราคายางพารา ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ

กนย.สั่งทบทวนประกันรายได้ยางพาราเฟส2

ส่วนเรื่องพิจารณา 3 มาตรการขอสนับสนุนสินเชื่อไม่มีปัญหาที่ประชุมมีมติเห็นชอบทั้งหมด ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ 2.ขออนุมัติโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นทุนหมุนเวียน 3.ขออนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภภัณฑ์ยาง และ 4.ขออนุมัติเพิ่มกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ภายใต้โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง (ยางแห้ง)วงเงินสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน ขณะที่โครงการชะลอการขายยางของเกษตรกรชาวสวนยาง (ฝากยางไว้ที่บ้านต้านภัยโควิด) ดึงเรื่องออกมา จึงไม่ได้เสนอเข้าที่ประชุมให้เห็นชอบ