อังกฤษลุ้นก.ย.นี้ สหรัฐหวังต้นปีหน้า ผลิตวัคซีนพิชิตโควิด

24 พ.ค. 2563 | 02:20 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

ยังคงต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องกันต่อไป สำหรับการวิจัยและพัฒนา “วัคซีนโควิด” สำหรับรักษาโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จนกว่านักวิจัยจะสามารถคิดค้นและทดลองกับมนุษย์เป็นผลสำเร็จ สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เป็นปริมาณมาก และทุกคนได้รับวัคซีนป้องกัน นั่นแหละถึงจะ “เบาใจ” ได้ กับไวรัสมฤตยูร้ายตัวนี้

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” ทั่วโลก ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขการติดเชื้อทั่วโลก เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม  

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า มีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกมากถึง 106,662 คน ซึ่งเป็นตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 1 วัน ที่มากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นของจีนเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่กว่า 5 ล้านคนแล้ว ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมทั่วโลกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 329,000 คน 

สำหรับสหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดในโลก โดยติดเชื้อเกือบ 1.6 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 95,000 คน   

หนทางเดียวที่เป็นความหวัง ของชาวโลก ที่จะยับยั้ง “ไวรัสโควิด-19” ได้คือ “วัคซีน” นั่นเอง

ลองไปไล่เลียงดูการวิจัยและพัฒนา “วัคซีนโควิด” ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ขณะนี้ประกอบด้วย 

 

สหรัฐฯผลิตวัคซีน ม.ค.

บริษัท โมเดอร์นา (Mo derna) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯ กำลังพัฒนาวัคซีนชื่อ “mRNA-1273” ร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ทดสอบระยะที่ 1 ในคนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม และให้ผลที่ดีในเบื้องต้น โดยอาสาสมัครมีการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นในร่างกายหลังได้รับวัคซีน 2 ครั้ง 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดลองในระยะที่ 2 และ 3 ในจำนวนอาสาสมัครที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทระบุว่า อย่างเร็วอาจผลิตวัคซีนป้อนสู่สาธารณชนได้ภายในเดือนมกราคมปีหน้า (2564) 

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศ หลายสำนักรายงาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ว่า ดร.ทาล แซ็คส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่แพทย์ของบริษัท โมเดอร์นา อิงค์ ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐฯได้ระบุถึงผลสำเร็จขั้นต้นของการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 กับมนุษย์ว่า ผลการทดลองวัคซีนที่มีชื่อว่า mRNA-1273 ซึ่งโมเดอร์นาพัฒนาร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯเบื้องต้นชี้ว่า ผู้ที่รับวัคซีนได้สร้างสารภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี้ (antibody) สำหรับต้านไวรัสชนิดนี้ขึ้นมา

ดร.แซ็คส์ กล่าวว่า หากการศึกษาทดลองในอนาคตเป็นไปได้ด้วยดี วัคซีนของบริษัท อาจพร้อมจำหน่ายสู่สาธารณชนอย่างเร็วที่สุดในเดือนมกราคมปีหน้า (2564) 

 

อังกฤษลุ้นก.ย.นี้ สหรัฐหวังต้นปีหน้า ผลิตวัคซีนพิชิตโควิด

 

ข้อมูลดังกล่าวมาจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ซึ่งทำการศึกษาในกลุ่มคนจำนวนน้อย และมุ่งเน้นไปที่การหาผลลัพธ์ว่า วัคซีนมีความปลอดภัย และทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองหรือไม่ โดยเป็นผลการวิจัยในเบื้องต้นที่ยังไม่ผ่านการพิจารณาในเชิงวิชาการหรือตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ใดๆ

ในการทดลองนี้ซึ่งเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม โมเดอร์นาให้วัคซีน (คนละ 2 ครั้ง เว้นระยะห่างครั้งละประมาณ 28 วัน) กับผู้เข้าร่วมการทดลอง 45 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่มจำนวนคนเท่าๆ กันกลุ่มละ 15 คน แล้วให้วัคซีนขนาด 25, 100 และ 250 ไมโครกรัมแก่แต่ละกลุ่มตามลำดับ 

 

จากนั้นหลังการให้วัคซีนครั้งที่ 2 ราว 2 สัปดาห์ ก็ทำการวัดปริมาณสารภูมิต้านทานในร่างกายของผู้เข้าร่วมทุกคน พบว่า ทั้งหมดปลอดภัยดีและสามารถสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมา 

นอกจากนี้ยังพบว่า อย่างน้อย 8 คน สามารถสร้างแอนติบอดี้ชนิด ‘Neutralizing antibody’ (NA) สำหรับดักจับไวรัสโควิด-19 ในระดับเท่าหรือมากกว่า ระดับที่พบในคนซึ่งหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ตามธรรมชาติ 

“การทดลองแสดงให้เห็นแล้วว่า แอนติบอดี้เหล่านี้ รวมทั้งการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเหล่านี้ สามารถป้องกันไวรัสชนิดนี้ได้จริง” ดร.แซ็คส์กล่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าวด้านสุขภาพของสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า ผลการทดลองวัคซีนของบริษัท โมเดอร์นา ยังไม่ชัดเจนพอที่จะประเมินประสิทธิภาพการต้านไวรัสโควิด-19 

 

อังกฤษลุ้นวัคซีน ก.ย.นี้

ด้าน บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) เริ่มการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมกราคม และจะเริ่มการทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ในเดือนกันยายน คาดว่าจะแถลงผลได้ภายในสิ้นปี หากวัคซีนที่ได้มีประสิทธิภาพดี บริษัทก็จะเร่งผลิตออกมาให้ได้ 600-900 ล้านโดส ภายในเดือนเมษายน 2564 

ขณะที่ บริษัท อิโนวิโอ ฟาร์มาซูติคัล (Inovio Pharmaceutical) กำลังพัฒนาวัคซีนที่ชื่อ “INO-4800” โดยเริ่มทดลองทางคลินิกมาตั้งแต่เดือนเมษายน และกำลังทดลองในอาสาสมัครในมลรัฐเพนซิลวาเนียและมิสซูรี คาดว่าจะทราบผลในฤดูร้อนนี้

 

ทางด้านมหาวิทยาลัยออกซ์ ฟอร์ด ของอังกฤษ กำลังพัฒนาวัคซีนชื่อ “ChAdOx1 nCoV-19” โดยเริ่มทดลองกับมนุษย์ในระยะที่ 1 มาตั้งแต่เดือนเมษายน โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ 20 ล้านปอนด์ ทีมงานตั้งเป้าผลิต 1 ล้านโดส ในเดือนกันยายนนี้ 

ไฟเซอร์ บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จับมือกับ บริษัท ไบโอเอ็นเทค ของเยอรมนี วิจัยและพัฒนาวัคซีนชื่อ “BNT162” โดยเริ่มทำการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในมนุษย์เมื่อต้นเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งหากประสบความสำเร็จ บริษัทก็ตั้งเป้าผลิตวัคซีนหลายล้านโดสในสิ้นปีนี้ และอีกหลายร้อยล้านโดสในปี 2564 โดย “ไฟเซอร์” ใช้เทคโนโลยี mRNA คล้ายกับ บริษัท โมเดอร์นา ในการสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมา 

ซาโนฟี ของฝรั่งเศส ร่วมกับ แกล็กโซสมิทไคลน์ (จีเอสเค) ของอังกฤษ ทำข้อตกลงในการร่วมกันพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และตั้งเป้าผลิตวัคซีน 600 ล้านโดสภายในปีหน้า บริษัทมีแผนเริ่มการทดลองทางคลินิกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ 

ขณะที่ บริษัท โนวาแว็กซ์ ประกาศเมื่อเดือนเมษายน ว่าจะพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ชื่อ “NVX-CoV2373” โดยเริ่มการทดลองวัคซีนกับมนุษย์ในเดือนพฤษภาคม คาดว่าจะทราบผลขั้นต้นในเดือนกรกฎาคม 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,577 หน้า 10 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม 2563