มช. ระดมแพทย์จิตอาสา 200 คนร่วมให้คำปรึกษาโควิดออนไลน์

21 พ.ค. 2563 | 08:22 น.

ทีมแพทย์จิตอาสาที่เป็นนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กว่า 30 คน เข้าร่วมโครงการ Doctor A to Z ซึ่งเป็นอีกช่องทางการช่วยเหลือด้วยแอพพลิเคชันทางการแพทย์  “ระบบคัดกรองผู้ป่วยผ่านแบบฟอร์มประเมินความเสี่ยงติดไวรัส COVID-19”  โดยมีทีมแพทย์จิตอาสารวมกว่า 200 คน มาร่วมคัดกรองและให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอล “Teleconsult” เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็วและตอบโจทย์ได้อย่างทันท่วงที ลดความวิตกกังวล ภาวะความเครียด ให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อโรค ลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาล อีกทั้งเป็นการลดภาระงานและเพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย  ที่สำคัญระบบนี้จะช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้อย่างเต็มกำลัง

มช. ระดมแพทย์จิตอาสา 200 คนร่วมให้คำปรึกษาโควิดออนไลน์

กลุ่มแพทย์จิตอาสายังเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาผ่านรูปแบบแอพพลิเคชันCMU Self Health Check for COVID-19 แบบบันทึกสุขภาพโควิด-19 สำหรับบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีประวัติเดินทางมาจากต่างจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงตามประกาศของกรมควบคุมโรค กรณีมีอาการเข้าข่ายเกณฑ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระบบจะส่ง SMS แจ้งเตือนให้ทราบทันที พร้อมคำแนะนำและ link เชื่อมโยงแอพพลิเคชัน Doctor A to Z

จากประสบการณ์การเป็นแพทย์จิตอาสาของนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กว่า 30 คน ในโครงการ Doctor A to Z ก่อกำเนิดความประทับใจในหลายแง่มุม

นพ.เติมพงศ์ เรียนแพง อาจารย์แพทย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กล่าวว่า สิ่งที่ได้เลยทันทีคือความสุขครับ คือความสุขในด้านการทำงานในฐานะแพทย์ การที่เราได้ทำให้คนคนหนึ่งได้พ้น หรือบรรเทาจากความทุกข์ ไม่ว่าจะทางกาย หรือทางใจนั้นคือความสุข ผมมีคุณป้าคนหนึ่งครับ ปรึกษาทางไกลกับผมผ่านโครงการนี้ มีอาการไข้หวัด อ่อนเพลียมาก อยู่ตัวคนเดียว ผมแนะนำให้ไปโรงพยาบาล แต่คุณป้าไม่รู้จะไปยังไง จะเรียกรถแท๊กซี่มารับก็กลัวจะไปติดคนอื่น จากนั้นผมได้ประสานทีมในโครงการจนสุดท้ายได้มีรถโรงพยาบาลไปรับถึงบ้าน จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ ทางทีมได้ติดต่อกลับไปหาคุณป้า คุณป้าบอกว่ากลับมาพักที่บ้านแล้ว อาการดีขึ้นมาก และได้ขอบคุณทุกคนเลย สิ่งนี้แหละครับคือความสุขที่ผมได้” 

 

 

พญ. พัชรินทร์ ปรีชานนท์ นายแพทย์ 5 ฝ่ายอายุรกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย(แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) กล่าวว่าดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ แม้เราจะเป็นหมอผิวหนัง ไม่ได้ออกรบเป็นแนวหน้า ในการดูแลผู้ป่วยโควิดโดยตรง แต่ถือว่าได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งช่วยเติมเต็ม ให้กระบวนการต่อสู้กับโควิดนั้นแข็งแกร่งขึ้น  นอกจากผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจแล้ว ยังมีผู้ป่วยโรคผิวหนังเข้ามาปรึกษาด้วย ซึ่งเราก็ยินดีให้คำปรึกษาหากช่วยทำให้เค้าคลายกังวลและรักษาเบื้องต้นได้ โดยผู้ป่วยไม่ต้องไปเสี่ยงรับเชื้อที่โรงพยาบาล”      

พญ. ดนยา  กระจ่างวิทยา อายุรแพทย์ ประจำสหคลินิกภาวนาปัญญาวิสุทธิ์ และ โรงพยาบาลสิริเวช จันทบุรี (แพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)   กล่าวว่าขอบคุณทีมงาน Doctor A to Z ที่ได้สร้าง platform ดีๆขึ้นมา และพัฒนาอย่างต่อเนื่องสำหรับการช่วยเหลือสังคมในช่วง COVID19 ระบาดแบบนี้  Telemedicine เป็นสิ่งที่เข้ามาตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก เพราะมีหลายๆ คนที่เค้าอยากปรึกษา แต่เค้ากลัวที่จะมาพบแพทย์โดยตรง กลัวที่ออกมาข้างนอก แล้วจะรับเชื้อเพิ่มขึ้น  การปรึกษาทางนี้ นอกจากจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ ตามมาตรการ social distancing แล้ว ยังช่วงลดความวิตกกังวลให้ผู้มารับการปรึกษาได้อย่างดีด้วย แทนที่เค้ามีอาการ แล้วจะไปนั่ง search ข้อมูลเองแล้วยิ่งตระหนกมากขึ้น การได้คุยกับแพทย์โดยตรง เราจะสามารถชี้ให้เค้าเห็นเลยว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ให้ความรู้ คลายความวิตกกังวล  และข้อดีอีกอย่าง คือ กรณีที่ผู้รับปรึกษาอยู่เข้าข่ายเสี่ยง เราก็สามารถให้คำแนะนำเพื่อให้เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย พูดง่าย ๆ การที่มีโครงการนี้ เป็นก้าวแรกของการให้บริการทางการแพทย์ในการดูแลทั้งทางร่างกายและจิตใจได้อย่างดีในสังคม 5G ค่ะ ซึ่งหมอขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาระบบบริการแบบนี้ไปเรื่อย ๆ