"การบินไทย" ไม่ใช่แค่สายการบินปีกหัก ในสายตาชาวโลก

20 พ.ค. 2563 | 11:50 น.

"การบินไทย" สายการบินแห่งชาติของไทย ไม่ใช่แค่สายการบินปีกหัก ในสายตาชาวโลก

สื่อต่างประเทศเผย การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ได้สร้างแรงกดดันหนักหน่วงให้กับสายการบินทั่วโลก และล่าสุด “การบินไทย” สายการบินแห่งชาติของไทย ก็ต้องพ่ายต่อแรงกดดันดังกล่าวและกำลังจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้การดูแลของศาลล้มละลาย  เช่นเดียวกับที่หลายสายการบินต้องเผชิญก่อนหน้านี้

 

  "การบินไทย" ไม่ใช่แค่สายการบินปีกหัก ในสายตาชาวโลก

 

ซีเอ็นเอ็น สื่อใหญ่ของสหรัฐฯ พาดหัว Thai Airways survives for now as government orders overhaul (การบินไทยรอดแล้วอย่างน้อยก็ตอนนี้ หลังรัฐบาลสั่งให้ยกเครื่องกิจการ) โดยเนื้อหาระบุ การบินไทยประกาศเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ว่า รัฐบาลได้อนุมัติให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การกำกับดูแลของศาลล้มละลายกลาง  เป้าหมายก็เพื่อป้องกันไม่ให้การบินไทยต้องถูกบังคับให้ขายสินทรัพย์เพื่อชำระหนี้ หรือต้องประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ  

 

ขณะที่บีบีซีของอังกฤษให้น้ำหนักไปในทิศทางเดียวกันว่าThai Airways saved from the brink by government (การบินไทยรอดจากปากเหวโดยความช่วยเหลือของรัฐบาล) โดยแทนที่จะเข้าอุ้มด้วยการปล่อยกู้กว่า 58,100 ล้านบาทตามที่บริษัทเสนอขอก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยกลับให้การบินไทยไปทำแผนยื่นฟื้นฟูกิจการเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่การบินไทยเคยออกมาแถลงการณ์ปฏิเสธผ่านทางหน้าเว็บไซต์ของบริษัทว่า ไม่มีความประสงค์จะยื่นขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลายแต่อย่างใด สื่อใหญ่ของอังกฤษรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา การบินไทยซึ่งมีเครื่องบินอยู่ประมาณ 80 ลำและพนักงาน 22,000 คน อยู่ในภาวะขาดทุน 12,000 ล้านบาท

"การบินไทย" ไม่ใช่แค่สายการบินปีกหัก ในสายตาชาวโลก

 

การบินไทยคาดหมายว่าระหว่างเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ  บริษัทจะยังคงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและเที่ยวบินขนส่งสินค้า (คาร์โก้) แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่า จะมีการปลดพนักงานมากน้อยเพียงใด และบริการส่วนไหนของการบินไทยบ้างที่จะได้รับผลกระทบจากแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของการบินไทยพุ่งขึ้น 14.6% ในช่วงบ่ายวันนี้ หลังจากที่ดิ่งลงไปแล้ว 32% นับตั้งแต่ต้นปีมา ซีเอ็นเอ็นระบุว่า การบินไทยเป็นตัวอย่างล่าสุดของสายการบินรายใหญ่ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องสูญเสียรายได้ ต้องยกเลิกเที่ยวบิน งดนำเครื่องบินขึ้น และต้องให้พนักงานหยุดงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน


อ่านเพิ่มเติม “แอร์บัส” ยื่นโนติส “การบินไทย”ทวงหนี้ค่าเช่าเครื่องบิน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “เอเวียงกา” (Avianca) ซึ่งเป็นสายการบินของประเทศโคลอมเบีย ได้ยื่นขอความคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลาย Chapter11 ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ก่อนหน้านั้น สายการบินเวอร์จิ้น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่อันดับสองวของประเทศ ก็เพิ่งทำในสิ่งเดียวกันไปเมื่อเดือนเม.ย. ขณะที่ในเดือนมี.ค. สายการบินฟลายบ์ (Flybe) ในอังกฤษที่ผลประกอบการซวนเซอยู่แล้ว เมื่อเจอโควิด-19 เข้าโถมกระแทกก็มีอันต้องเลิกกิจการไปเป็นรายแรกๆ

 

สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (IATA) ที่มีสมาชิกเป็นสายการบินทั่วโลกเปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ ว่า นับตั้งแต่ที่โควิด-19 แพร่ระบาดเมื่อต้นปีมา ปริมาณการเดินทางทางอากาศลดลงมากกว่า 90% ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา หากมีการขยายเวลาข้อจำกัดด้านการเดินทางและมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรคออกไปอีก ก็เชื่อว่าการฟื้นตัวจะล่าช้า และกว่าที่จำนวนผู้เดินทางทางอากาศ หรือ passenger traffic จะกลับคืนสู่ระดับก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ก็คงต้องรอไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อย

 

เช่นเดียวกับที่หลายสายการบินทั่วโลกกำลังเผชิญในขณะนี้  การบินไทยจำเป็นต้องระงับเที่ยวบินส่วนใหญ่เนื่องจากความต้องการเดินทางทางอากาศลดวูบลง นับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้วโดยในรายงานประจำปีของการบินไทยในปีที่ผ่านมา ระบุว่า บริษัทกำลังเผชิญหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำ ทำให้บริษัทนำแผนปรับปรุงกิจการในระยะ 10 ปีมาใช้ ซึ่งรวมถึงการหาโอกาสใหม่ๆในการร่วมทุน และลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน

 

 แต่ตอนนี้ภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ บริษัทก็จำเป็นต้อง “รีเซ็ต” แผนการต่างๆเพื่อเริ่มต้นใหม่

 

อ่านเพิ่มเติม การบินโลกอ่วมยาว รอฟ้าใสอย่างน้อยอีก 3 ปี