แผน“การบินไทย” ล่ม ลุยแก้แผนฟื้นฟูฯ-ยื่นล้มละลายต่อศาล

14 พ.ค. 2563 | 11:48 น.

“คมนาคม” ถก การบินไทย เร่งปรับแผนฟื้นฟูฯ ด้านอนุทิน เผยยังไม่ได้ข้อสรุป ขณะเดียวกันที่ประชุมเตรียมแนวทางศึกษาแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ-บังคับคดี หวังยื่นล้มละลายต่อศาลละลายกลาง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันนี้ (14 พ.ค.) เวลา 17.20 น. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยที่ประชุมในครั้งนี้ ร่วมด้วย นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) นางสาวมนัญญา ไทยเรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้มีการประชุมรวมกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เบื้องต้นในวาระการประชุมดังกล่าว กลับไม่พบนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุม เนื่องจากติดภารกิจสำคัญไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การหารือในวันนี้ เป็นการพิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของการบินไทย ที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และการบินไทยจัดทำร่วมกัน โดยพบว่าแผนฟื้นฟูยังมีปัญหาอยู่มาก และภายในที่ประชุมยังมีความเห็นด้วยว่า การค้ำประกันกู้เงินจากกระทรวงการคลัง วงเงิน 50,000 ล้านบาท อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด

ขณะเดียวกันในการศึกษาแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ยังมีการนำเสนอถึงแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยให้การบินไทยยื่นฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการล้มละลาย โดยอาจยื่นเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เพื่อทำให้การบินไทยเริ่มต้นฟื้นฟูธุรกิจ โดยปราศจากภาระใช้หนี้สินที่เป็นปัญหาผูกมัดค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน รวมทั้งได้พิจารณาถึงขั้นตอนของการบังคับคดี ว่าจะมีเงื่อนไขหรือรูปแบบดำเนินการอย่างไร

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังการประชุมหารือเรื่องแผนฟื้นฟู บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า สำหรับการประชุมแผนฟื้นฟูการบินไทย ดังกล่าว อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ในส่วนของกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยครั้งนี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากติดภารกิจ สำคัญ

“ส่วนแนวทางการฟื้นฟูบินไทยจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากจะต้องหารือกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนว่าเป็นอย่างไร สำหรับเรื่องการค้ำประกันเงินกู้นั้น ยังไม่ได้มีการหารือ แต่เราไม่ได้ตัดทิ้งแนวทางนี้เช่นกัน เรามองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ต้องหารือให้ครบถ้วน ซึ่งยังไม่ได้มีการตัดสินใจอะไร เนื่องจากต้องรอรายงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบ เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้บริษัทการบินไทยถือเป็นบริษัทมหาชน ตนไม่สามารถพูดแทนได้”

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) กล่าวว่า สำหรับการประชุมวันนี้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้เข้าร่วมประชุม จึงเป็นการหารือกันเองภายในกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้การหารือเป็นเรื่องทั่วไป โดยเฉพาะเรื่องปัญหาของการบินไทยที่มีการแสดงความคิดเห็นกันหลากหลายในสังคมโซเชียล

“ส่วนการปรับปรุงแผนฟื้นฟูการบินไทยนั้นอาจจะเสนอต่อที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ทันในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา 23 จุดเสี่ยงให้หมดก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำแผนดังกล่าว ส่วนการบินไทยจะเข้าสู่ขั้นตอนการล้มละลายหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น”

 

อย่างไรก็ตามนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รองประธานกรรมการ รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) ได้ส่งสารถึงผู้บริหารและพนักงานของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า

“สวัสดีผู้บริหาร เพื่อนพนักงานการบินไทยและไทยสมายล์วันนี้ผมรู้ว่าพวกเราชาวการบินไทยและไทยสมายล์ทุกคน กำลังรู้สึกสับสนและกังวลกับสถานการณ์ของบริษัทฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่กำกับดูแลและรอการเสนอ

คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติแผนฟื้นฟู และอนุมัติการค้ำประกันเงินกู้ให้กับการบินไทยอย่างไรก็ตาม ในอดีตที่ผ่านมา การบินไทยเป็นสายการบินชั้นนำและได้รับการชื่นชมจากผู้โดยสารและผู้ใช้บริการมาโดยตลอด จึงทำให้มีผู้ที่รักและห่วงใยการบินไทยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูการบินไทยอย่างกว้างขวางผ่านทางสื่อมวลชนและสื่อโซเชียล ซึ่งมีทั้งความคิดเห็นด้นบวกและลบบางความเห็นเป็นประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อรัฐบาล

ซึ่งพวกเราคงได้ติดตามข่าวสารกันอยู่แล้ว ผมจึงอยากขอความร่วมมือพนักงานทุกคนใช้วิจารณญานในการรับข่าวสาร ซึ่งผมคงไม่สามารถห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ของพนักงานเกี่ยวกับข่าวสารต่างๆในเวลานี้ได้ แต่ขอให้ทุกคนระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงความคิดเห็นที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายความน่าเชื่อถือที่มีต่อผู้โดยสาร พันธมิตร คู่ค้า รวมทั้งภาครัฐที่จะเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนการบินไทยในการ

ฟื้นฟูครั้งนี้ ดังนั้น ไม่ว่าผลการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีจะออกมาอย่างไร ขอให้เชื่อมั่นว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่กำกับดูแลได้พิจารณาอย่างรอบคอบและหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับการบินไทยแล้วผมขอให้พนักงานการบินไทยทุกคนมีความสามัคคี เสียสละ ร่วมแรงร่วมใจ แสดงให้เห็นถึงความพร้อที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สาธารณชนเห็นว่าแผนฟื้นฟูจะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และกลับมาเชื่อมั่นในการบินไทยอีกครั้ง”