“ดร.กนก” ชี้4แสนล้าน ต้องยกระดับประเทศได้

12 พ.ค. 2563 | 02:44 น.

“ดร.กนก”แนะรัฐลงทุน4 แสนล้านกับกลุ่ม เกษตร ผู้ประกอบการรายย่อย และธุรกิจ SME ก่อน เหตุเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจในประเทศ

 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน
 
 
วันที่ 12 พ.ค.63 ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอแนะเกี่ยวกับกรอบของการลงทุนด้วยจำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ของ พรก. เงินกู้ 1 ล้านล้าน ต้องเริ่มจากกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง คือ 1) เกษตรกรรายย่อย และแรงงานรับจ้าง 2) ผู้ประกอบการรายย่อย และ 3) ผู้ประกอบการ SME
 
“ประชาชน ทั้ง 3 กลุ่มนี้ เป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประชากรจำนวน 10-20 ล้านคน ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้ล้วนตกเป็นเบี้ยล่างของระบบเศรษฐกิจและสังคมภายใต้โครงสร้างที่เอื้อต่อทุนมากกว่าแรงงาน จนนำมาซึ่งผลกระทบตลอด 30 ปีของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ที่นำไปสู่ความขัดแย้งในบ้านเมือง
 
 แต่ถ้าเราสามารถทำให้กลุ่มประชากรทั้ง 3 ส่วนนี้กลายเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจในประเทศที่เข้มแข็งได้ ผลที่ตามมาก็จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้รับการขยายตัวขึ้นไปด้วย”
 
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แนะนำว่า ควรต้องลงทุนอย่างไรถึงจะครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวนี้ โดยแบ่งเป็น 5 แนวทางที่น่าสนใจ อันได้แก่

1) การลงทุนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน และการกระจายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้พวกเขาสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย และ SME ต้องมีน้ำเพียงพอเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและการดำเนินกิจการ

2) การลงทุนเพื่อการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ และเหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชในแต่ละชนิด จะส่งผลให้ผลผลิตต่อพื้นที่ของการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะสารอาหารในดินที่อุดมสมบูรณ์จะช่วยให้พืชที่ปลูกเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง
 
3) การลงทุนเพื่อการใช้เทคโนโลยีสำหรับการผลิต การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงเรื่องของการกระจายสินค้า และการตลาดสมัยใหม่ เพราะเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการผลิต คือ มีต้นทุนที่ต่ำลง แต่ได้ผลผลิตมากขึ้น
 
 
 
ส่วนเรื่องของเทคโนโลยีสำหรับการขาย และการตลาดที่ทันสมัย จะช่วยให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดและลูกค้าได้กว้างขึ้นกว่าเดิม ช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อพฤติกรรมการซื้อของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำมาประมวลในเรื่องของการสร้างความพึงพอใจต่อสินค้าและการบริการ
 
4) การลงทุนเพื่อสร้างระบบขนส่ง (logistic) ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และ SME เพราะว่าในระบบธุรกิจปัจจุบัน เกษตรกรและผู้ประกอบการฐานรากขาดศักยภาพในการแข่งขัน เนื่องมาจากต้นทุนของการเคลื่อนย้ายสินค้าแพงกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่
 
5) การลงทุนเพื่อการพัฒนาทักษะสมัยใหม่ และยกระดับทักษะเดิมให้เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย และ SME รวมไปถึงผู้ใช้แรงงานในฟาร์ม และโรงงานขนาดเล็กที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ นี่คือหัวใจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก เป็นการลงทุนไปกับศักยภาพของคน ที่สำคัญต้องไม่ละเลยในรายละเอียดต่างๆ อาทิ ความตั้งใจ การออม ชีวิตความเป็นอยู่ ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะเหล่านี้คือองค์ประกอบสำคัญที่จะผลักดันให้แรงงานสามารถขับเน้นศักยภาพออกมาอย่างสูงสุด
 
“ผมมีความเชื่อว่า เงิน 4 แสนล้านที่จะไปกู้มาใช้ จะไม่หมดไปเพียงแค่การประคองระบบเศรษฐกิจให้อยู่รอดเท่านั้น เพราะถ้าหน่วยงานหลักสามารถทำเป็น และเห็นปัญหาอย่างแม่นยำ ก็น่าจะไปถึงขั้นการพลิกฟื้นระบบเกษตรและธุรกิจฐานรากอย่างก้าวกระโดดได้เลยทีเดียว” ดร.กนก กล่าวทิ้งท้าย