ไทยก้องโลก ร่วมใจเอาชนะโควิด จากนี้วัดฝีมือฟื้นประเทศ

10 พ.ค. 2563 | 01:40 น.

THAILAND ไทยแลนด์ ชื่อนี้กระหึ่มก้องโลก ได้รับคำชื่นชมมากมายจากผู้นำประเทศ และองค์กรต่างๆจากทั่วโลกถึงการร่วมแรงร่วมใจกันเอาชนะเจ้าไวรัสตัวร้าย โควิด-19

ถึงวันนี้ชัดเจนแล้วว่า”เราคนไทยทำหน้าที่ของเรากันได้อย่างดี” ผ่านพ้นมาแล้ว 5เดือนกับการรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ผลชัดเจน

  

ยิ่งได้รับรู้ผลรายงานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ว่าผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่อง โดยขณะนี้มี 9 จังหวัดที่ไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อ ได้แก่ จ.ชัยนาท ตราด สิงห์บุรี อ่างทอง กำแพงเพชร น่าน พิจิตร บึงกาฬ ระนอง ส่วน 44 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันเป็นจุดชี้  ไทยชนะศึกโควิด-19 ค่อนข้างแน่นอน เพียงแต่ว่าเราอย่าเพิ่งอิ่มเอมใจ จนละเลยวินัย

 

หากย้อนไทมไลน์ดูมาตรการที่รัฐบาลประกาศใช้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้ขยายตัวแบบก้าวกระโดด เริ่มจากวันที่ 17 มีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบ 15 มาตรการเร่งด่วน เช่น ปิดสถานที่ที่มีคนแออัด งดการเรียนการสอน ส่งเสริมการ Work from Home ลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในระบบขนส่งมวลชน และส่งเสริมให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้า เป็นต้น 

 

ตามด้วยวันที่ 21 มีนาคม 2563   พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศปิดห้างและพื้นที่เสี่ยงทั่วกรุงเทพฯ จากนั้นวันที่ 26 มีนาคม 2563 พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมีผลบังคับใช้ และวันที่ 3 เมษายน 2563 เริ่มบังคับใช้เคอร์ฟิวช่วงเวลา 22.00-04.00 น. พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศได้ประกาศใช้มาตรการเฉพาะในแต่ละจังหวัด ส่งผลให้อัตราผู้ติดเชื้อสะสมลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

เรามาถึงวันนี้ได้ ต้องขอปรบมือดังๆ ให้กับคนไทยทุกคนทุกกลุ่มที่ร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่เอาจริงเอาจังกับการกระทำตามกติกาที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมา จนทำให้ประเทศไทยต่อสู้กับโควิด-19 ได้อย่างดีเลิศ  เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลก จะเห็นว่าไทยเรามีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นกว่ามาก

อย่างที่ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า "ประเทศไทยสู้โควิด-19 ได้ดีเลิศนั้นเป็นเพราะ

1. หมอแนะนำมาตรการกำหนดพฤติกรรม  

2. รัฐบาลประกาศเป็นกฎกติกา เป็นกฎหมายใช้บังคับบ้าง ขอความร่วมมือบ้าง 

3. สื่อมวลชนช่วยกันสื่อสารเผยแพร่

4. เจ้าหน้าสาธารณสุขทำงานด้วยความทุ่มเทเต็มที่ ด้วยยุทธศาสตร์ที่ใช้สมองและหัวใจในการทำงาน 

5. เจ้าหน้าที่ปกครอง ทหาร ตำรวจ ทำงานอย่างเต็มที่ในการกำกับดูแลให้ประชาชนทำตามกฎกติกา

6. ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฏกติกาที่หมอแนะนำ ใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ออกจากบ้านแต่น้อย ไม่ไปที่มีคนมาก รักษาระยะห่างทางสังคม เป็นการป้องกันตนเอง 

7. จัดการดูแลคนไทยที่กลับมาจากต่างแดนเป็นอย่างดี ทั้งที่อยู่ อาหารการกิน และการบริการของเจ้าหน้าที่  

8. คนไทยมีน้ำใจต่อกัน มีคำว่า "ให้" เป็นหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือกัน ทั้งการทำงานเป็นจิตอาสา บริจาคเงิน บริจาคสิ่งของที่จำเป็นในการป้องกัน และจัดหาอาหารและเครื่องดื่มให้แก่ผู้ที่มีความต้องการ 

9. ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดทีมไทยแลนด์ขึ้น โดยไม่ต้องตราเป็นกฎหมาย 

 

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะ "ความเป็นไทย" ที่เป็นอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเราบนผืนแผ่นดินไทย

เห็นแล้วใช่มั้ยครับ หากคนในชาติร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเลวร้ายหรือยากเข็ญเพียงใด เราก็จะผ่านพ้นไปได้ เห็นชัดที่สุดกับการต่อสู้เอาชนะโควิด-19 ครั้งนี้ เราคนไทยทำได้ดีเป็นอันดับต้นของโลก

 

ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีชื่อเสียงก้องโลก ได้รับคำชื่นชมจากผู้นำประเทศ และองค์กรต่าง ๆ ที่แสดงความชื่นชมที่ประเทศไทยรับมือโควิด-19 ได้ดี ไม่ว่าจะเป็น นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา, นายเจรเมี ฮันต์ รมว.สาธารณสุข ของประเทศอังกฤษ หรือแม้กระทั่ง คำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO 

ไม่นานเกินรอครับ เราจะได้รับข่าวดีการปลดล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ

จึงเป็นไปได้ว่า จากนี้ถึงสิ้นปีก็เป็นช่วงปรับโหมดเน้นไปที่การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม ซี่งอยู่ที่การใช้เงิน1.9 ล้านล้านบาทเป็นสำคัญ  ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามดูแลไม่ให้เศรษฐกิจถูกกระทบมากเกินไป อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในในรายละเอียดของการช่วยเหลือประชาชนอยู่ใน พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

 

โดยมีสาระสำคัญ คือ มาตรา 3 ให้อำนาจกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาล มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท

 

ส่วนมาตรา 5 กำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินกู้ ได้แก่ 1. เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 และ2.เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้แก่ภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และ 3.เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 

 

แม้ยังไม่อาจประเมินได้ว่าเงินก้อนนี้จะเพียงพอหรือไม่ในการฟื้นฟูประเทศ  ยังตอบได้ยาก นับจากนี้รัฐบาลคงต้องติดตามประเมินสถานการณ์วันนี้และวันหน้า เพื่อกำหนดสาระสำคัญการเยียวยาให้ชัดเจนว่า จะช่วยเหลืออุ้มชูกลุ่มไหนอย่างไรให้เร็วและตรงกลุ่มผู้เดือดร้อนได้เร่งด่วนจริงๆก็จะเกิดผลต่อเศรษฐกิจและมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของทุกภาคส่วนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามและเป็นความท้าทายของรัฐบาล