7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก

09 พ.ค. 2563 | 04:50 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3573 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 10-13 พ.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

          เรายังอยู่กับบทความจากกูรูของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ภายใต้การบริหารจัดการของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่เขียนถึงโลกเปลี่ยน คนปรับในตอนนี้จะพาไปมองโลกให้กว้างขึ้น

          หากมองวิกฤติเป็นโอกาส โรคโควิด-19 อาจเป็นสิ่งนำโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย ที่เปิดโอกาสให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จาก “โลกที่ไม่พึงประสงค์” เป็น “โลกที่พึงประสงค์”

          การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วย การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนา จาก “โลกที่มุ่งพัฒนำสู่ความทันสมัย” เป็น “โลกที่มุ่งพัฒนำสู่ความยั่งยืน”

          ในโลกก่อนโควิด-19 ผู้คนจากการประชุม “เวทีเศรษฐกิจโลก” (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส บอกเราว่า พลวัตของเทคโนโลยี (อันประกอบด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีกายภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัล) กำลังป่วนโลก โดยเชื่อว่า ภาวะโลกป่วนจากเทคโนโลยี (Technology Disruption) ก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และตามมาด้วยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

          แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาวะโลกป่วน ไม่ได้เกิดจากพลวัตของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากพลวัตของความเสี่ยงและภัยคุกคามด้วย (อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโรคระบาด) ซึ่งภาวะโลกป่วนจากพลวัตของความเสี่ยงและภัยคุกคามนั้น ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแค่ การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยหลักก่อให้เกิดการการปฎิวัติทางสังคม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ควบคู่ไปด้วย นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภายใต้ “7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก” อาจกล่าวได้ว่า โควิด-19 เป็นตัวเร่งการปรับเปลี่ยน

          ขยับที่ 1 จาก โมเดลตลาดเสรี สู่ โมเดลร่วมรังสรรค์ แทนที่จะใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อน เราต้องหันมาใช้พลังปัญญามนุษย์ในการขับเคลื่อน เปลี่ยนจากการแยกบทบาทที่ชัดเจนระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค มาเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการผลิตและรังสรรค์นวัตกรรม

          ปรับแนวคิดมุ่งหาทางเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ด้วยการพัฒนาความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อสร้างอำนาจของวิสาหกิจเหนือตลาด มาสู่แนวคิดการขยายขนาดตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อครอบคลุม “คนไร้และคนด้อยโอกาส” ในสังคม ด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้

          การระดมทุนแต่เดิม มีเพียงการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นและตลาดทุน แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมหรือธุรกิจดี ๆ สามารถระดมทุนจากประชาชนได้โดยตรง (Crowd Funding) โดยผู้ที่ให้เงินไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ โมเดลตลาดเสรีจะขับเคลื่อนผ่านกระแส “โลกาภิวัตน์” และ “บรรษัทภิวัตน์” ซึ่งแตกต่างจากโมเดลร่วมรังสรรค์ที่จะขับเคลื่อนผ่านกระแส “ชุมชนภิวัตน์” และ “ประชาภิวัตน์” เป็นสำคัญ

          ขยับที่ 2 เราเคยอยู่ใน โหมดการแข่งขันในการผลิตและการบริโภค ที่ขับเคลื่อนผ่านโมเดลการลงทุนแบบเอกชน ภายใต้แนวคิด “การผลิตเพื่อขาย” ก่อให้เกิดการแข่งกันผลิต แข่งกันบริโภค ความอยู่ดีมีสุขส่วนใหญ่ ตกอยู่กับคนจำนวนน้อย โลกกำลังขยับไปสู่ โหมดการผนึกกำลังในการผลิตและการบริโภค ที่ใช้แพลตฟอร์มแบบเปิดที่ทุกคนมีส่วนร่วม ภายใต้แนวคิดของการเกื้อกูลและแบ่งปัน มุ่งสร้างความอยู่ดีมีสุขให้คนหมู่มาก (Well-beings of the Mass)

          ขยับที่ 3 แต่เดิมเรามุ่งเน้น การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยความเชื่อที่ว่า ความโลภ ทำให้เกิด การเติบโต และการเติบโตเหนี่ยวนำให้เกิดความโลภ เป็นวงจรที่ไม่รู้จบ ความเชื่อ “Greed 2 Growth” และ “Growth2Greed” ดังกล่าวทำให้เกิดการมุ่งเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิต และการบริโภค โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ตอบโจทย์ความยั่งยืน

          เพื่อความเป็นปกติสุขในโลกหลังโควิด เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่การมุ่งเน้น “การขับเคลื่อนที่สมดุล” ใน 4 มิติ ได้แก่ การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขในสังคม ควบคู่ไปกับความยั่งยืนของธรรมชาติ บนรากฐานของศักดิ์ศรีและภูมิปัญญามนุษย์ โดยตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า “Good 2 Growth” และ “Growth 2 Good” แทน

          ขยับที่ 4 แต่เดิมเรามุ่ง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมองมนุษย์เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต มุ่งเน้นการลดต้นทุนและการเพิ่มผลิตภาพในตัวมนุษย์เป็นสำคัญ และเพื่อลดความรู้สึกผิด หลายองค์กรจึงทำให้ตัวเองนั้น Looking Good, Looking Well

          เพื่อความยั่งยืนในโลกหลังโควิด เราต้อง สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ ทำอย่างไรให้เกิดการปลดปล่อยพลังปัญญามนุษย์ พร้อม ๆ กับการสร้างหลักประกันความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิต ยกระดับทักษะ เติมเต็มศักยภาพ เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วม และปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

          เพราะฉะนั้น ต่อจากนี้ไป องค์กรจะต้องไม่ทำ Pseudo-CSR แต่เป็นองค์กรที่ Being Good, Being Well อย่างแท้จริง โดย Being Good เพื่อตอบโจทย์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ Being Well เพื่อตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น

          ขยับที่ 5 ในโลกก่อนโควิด เราเพรียกหาชีวิตที่ร่ำรวยทำงวัตถุ อันเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบ การแข่งขัน การตามอย่างกัน การแสวงหาความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งในที่สุดจะนำพาสู่ชีวิตที่ไร้จุดหมาย รวมถึงการพัฒนาทักษะเพียงเพื่อใช้ในการทำงาน

          ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ยิ่งมาก ยิ่งได้ และ ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี ความเชื่อดังกล่าวนำพาสู่ “ความอับจนบนความมั่งคั่ง” (นั่นคือ ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ดูดี แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นชีวิตที่ไร้ความสุข) เพื่อความเป็นปกติสุขในโลกหลังโควิด เราต้องปรับจากชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ เป็นชีวิตที่รุ่มรวยความสุข โดยเป็นชีวิตที่มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรง เต็มเปี่ยมด้วยความหวัง อบอุ่น เข้าใจโลก เข้าใจถึงคุณค่าของการมีชีวิต การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาทักษะความฉลาดรู้ในการใช้ชีวิต ควบคู่ไปกับการ พัฒนาทักษะเพื่อใช้ในการทำงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนความคิดจากเดิม ยิ่งมาก ยิ่งได้ เป็น ยิ่งปัน ยิ่งได้

          และเปลี่ยนความคิดจากเดิม ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี เป็น เมื่อขาดต้องรู้จักเติม เมื่อพอต้องรู้จักหยุด และเมื่อเกินต้องรู้จักปัน ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากทำได้ พวกเราก็จะสามารถก้าวข้าม “ความอับจนบนความมั่งคั่ง” และนำพาไปสู่ “ความรุ่มรวยบนความพอดี” แทน

          ขยับที่ 6 ในโลกก่อนโควิด เราติดกับดักของ เศรษฐกิจเส้นตรง ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า ตาม “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) อย่างไม่ยั้งคิด ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสู่การสร้างกำไรสูงสุด เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในโลกหลังโควิด เราต้องเร่งปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจเส้นตรงมาเป็น เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่อุดช่องว่างการผลิตแบบเก่าด้วย “วงรอบคุณค่า” โดยนำสิ่งเหลือใช้และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดกลับมาหมุนเวียนทำประโยชน์ใหม่ พร้อมกันนั้น ก็มุ่งเน้นความประหยัดในปัจจัยนำเข้า ประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และประโยชน์สูงสุดที่ได้รับจากผลผลิต

          ขยับที่ 7 การที่เราต้องอยู่ด้วยกันบนโลกใบเดียวกัน สุขด้วยกัน ทุกข์ด้วยกัน เราต้องปรับเปลี่ยนจาก การตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม ที่แต่ละคนคิดถึงแต่การเอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น และคิดเผื่อสิ่งดี ๆ ไว้ให้กับลูกหลานและพวกพ้องของตัวเองเท่านั้น เพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ ในโลกหลังโควิด การฟื้นฟู เยียวยา รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม  เป็นเรื่องสำคัญ ด้วยการไตร่ตรองถึงส่วนเสียที่อาจเกิดขึ้นในสิ่งดี ๆ

          ขณะเดียวกัน ก็ต้องมองหาส่วนดีที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เลวร้าย (อย่างเช่น ปัญหาสังคมสูงวัย ก่อเกิดการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ หรือ วิกฤตโควิดก่อเกิดการจัดระเบียบในระบบสาธารณสุขใหม่) ความคิดได้เปลี่ยนไปจากการคิดเผื่อสิ่งดี ๆ ให้กับลูกหลานและพวกพ้องของตัวเอง มาสู่การคิดเผื่อสิ่งดี ๆ ให้กับคนส่วนใหญ่และคนรุ่นหลัง

          โดยสรุปแล้ว โรคโควิด-19 อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งของมนุษยชาติ อันที่จริงแล้ว “7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกขยับล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนหลักคิด ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

          ปัญหา คือพวกเราเพียงแค่ตระหนักรู้ แต่ไม่ได้ลงมือทำ ในโลกหลังโควิด มนุษย์จะอยู่รอดได้ เราต้องลงมือปฏิบัติ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

          ในโลกก่อนโควิด เรามองตัวเองเป็นเพียงพลเมืองของประเทศ มุ่งเน้นสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร ให้กับประเทศ แต่ ณ วันนี้ ในโลกหลังโควิด เราต้องร่วมกันฟื้นฟูโลกให้ดีขึ้น เราต้องเป็นทั้งพลเมืองของประเทศ และเป็นพลเมืองของโลกในเวลาเดียวกัน

          เราไม่ได้อยู่ในภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่หลายประเทศสร้างความยิ่งใหญ่และอิทธิพลเหนือประเทศอื่น แต่อยู่ในโลกชีวภาพที่พลเมืองโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติภาพและเป็นปกติสุข