‘ญี่ปุ่น’ตามรอยสหรัฐ อนุมัติยา‘เรมเดซิเวียร์’ รักษาผู้ป่วยโควิด

10 พ.ค. 2563 | 02:35 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นไฟเขียวใช้ยา “เรมเดซิเวียร์” รักษาผู้ป่วยโควิดเป็นทางการแล้ว ตามรอย “สหรัฐฯ” ที่ “ทรัมป์” อนุมัติ ให้ใช้ยาตัวเดียวกันนี้รักษาผู้ป่วยอาการหนัก ขณะที่ไทยต่อยอดเตรียมทดลอง “ฟ้าทะลายโจร” ต้านโควิด-19 ในมนุษย์

 

ขณะที่ความพยายามในการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้สำหรับป้องกันเชื้อโรคไวรัสโคโรนา-2019 หรือ โควิด-19 ยังไม่ประสบความสำเร็จ และอาจต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ แต่การพัฒนายาเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิดเริ่มได้ผล นอกจากสหรัฐอเมริกา ที่อนุมัติให้มีการใช้ยารักษาผู้ป่วยแล้ว ล่าสุดทางการญี่ปุ่นก็ได้อนุญาตให้ใช้ยา “เรมเดซิเวียร์ (remdesivir)” รักษาผู้ป่วยแล้วเช่นกัน

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ อนุมัติการใช้ยา “เรมเดซิเวียร์” รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ส่งผลให้ยาเรมเดซิเวียร์เป็นยาตัวแรก ที่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศ

 

เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นระบุว่า จะใช้ยาดังกล่าวสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

นอกจากนี้ สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นยังรายงานว่า มีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะให้การอนุมัติในปลายเดือนนี้สำหรับการใช้ยาอาวีแกน (Avigan) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) ซึ่งเป็นยารักษาไข้หวัดใหญ่ เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากที่ญี่ปุ่นได้จัดส่งยาดังกล่าวฟรีให้แก่ 38 ประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อใช้ในโครงการทดลองรักษาผู้ป่วยโควิด-19

 

ทางด้านบริษัท กิเลียด ไซเอินส์ (Gilead Sciences) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์ แถลงก่อนหน้านี้ว่า ทางบริษัทได้รับข้อมูลที่น่าพึงพอใจในการใช้ยาดังกล่าว ซึ่งเป็นยาแอนตี้ไวรัส ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

 

บริษัทระบุว่า ผลการศึกษาการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ซึ่งทางบริษัทดำเนินการร่วมกับสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลการรักษาเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้น

 

บริษัท กิเลียดฯ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนอย่างน้อย 50% ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ เป็นเวลา 5 วัน มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 50% ที่ได้รับยาดังกล่าวสามารถออกจากโรงพยาบาลภายในเวลา 2 สัปดาห์

 

สหรัฐอนุมัติยารักษาโควิด

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนัก งานอาหารและยาแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (เอฟดีเอ) อนุมัติฉุกเฉินให้มีการนำ ยาเรมเดซิเวียร์ มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงได้แล้ว ตามที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้เสนอและเป็นคนให้ข่าวนี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

 

เอฟดีเอระบุว่า สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์ทั้งกับผู้ป่วยผู้ใหญ่และเด็กที่มีอาการป่วยรุนแรง มีระดับออกซิเจนในกระแสเลือดตํ่า หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากยังไม่มีการรักษาทางเลือกอื่นๆ ที่ได้รับการรับรองหรือเป็นทางเลือกได้มากพอ เราจึงให้นํ้าหนักกับประโยชน์ในการใช้ยานี้ ในการรักษาโรคที่สามารถคร่าชีวิตผู้คน มากกว่าโอกาสความเสี่ยงของการใช้ยา

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายหลังการหารือที่ทำเนียบขาว กับ นายอะเล็กซ์ อาซาร์ รมว.สุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐ

 

นายแพทย์สตีเฟ่น ฮาห์น ผู้อำนวยการเอฟดีเอ และซีอีโอของบริษัท กิ เลียด ไซเอินซ์ ผู้ผลิตยาเรมเดซิเวียร์ ผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตยา เปิดเผยว่า การที่เอฟดีเออนุมัติการใช้ยาเรมเดซิเวียร์ ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวแรก และบริษัทจะบริจาคยาเรมเดซิเวียร์ เพื่อสามารถใช้กับผู้ป่วยจำนวน 1 ล้านคน

 

นายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดี ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กำกับดูแลการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐฯ แจ้งว่า จะเริ่มแจกจ่ายยาไปตามโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม เป็นต้นไป

 

‘ญี่ปุ่น’ตามรอยสหรัฐ อนุมัติยา‘เรมเดซิเวียร์’ รักษาผู้ป่วยโควิด

 

ทรัมป์ ผลักดันเรื่องนี้ หลังจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIAID แถลงผลการใช้ยาเรมเดซิเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับปอด อีกทั้งเคยใช้รักษาผู้ป่วยอีโบล่า พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ สามารถฟื้นตัวเร็วกว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอก (placebo) ในอัตรา 31% จากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1,063 ราย

 

พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์ ใช้เวลาในการฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก โดยเวลาเฉลี่ยในการฟื้นตัวของผู้ที่ได้รับยาเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 11 วัน ส่วนผู้ที่ได้รับยาหลอกอยู่ที่ 15 วัน

 

ดร.แอนโธนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ปรึกษาฝ่าย สาธารณสุขประจำทำเนียบ ขาว ชี้ว่า ยาชนิดนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ป่วยหนัก เหมือนกับที่ใช้ในการศึกษา แต่จะไม่ใช้ทดสอบกับผู้ที่มีอาการป่วยไม่มาก ขณะที่สำนักงานอาหารและยา หรือ เอฟดีเอ อาจเปลี่ยนสถานะของยาเป็นอนุมัติเต็มรูปแบบในอนาคต หากบริษัท กิเลียดฯ แสดงตัวเลขสถิติเพิ่มเติมถึงความปลอดภัยและประสิทธิผลของยา

 

ก่อนหน้านี้ เอฟดีเออนุมัติการใช้ยาไฮดร็อกซีคลอโรควิน ซึ่งเป็นยารักษามาลาเรีย กับผู้ป่วยโควิด-19 แบบฉุกเฉินไปแล้ว หลังจากประธานาธิบดี ทรัมป์ ให้การสนับสนุนว่า ยาดังกล่าวใช้รักษาโควิด-19 ได้ 

 

ไทยลุยวิจัย “ฟ้าทะลายโจร”

น.พ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการวิจัย “ฟ้าทะลายโจร” ว่า เป็นที่รู้กันดีว่า ฟ้าทะลายโจร มีสารสกัดที่สำคัญ ที่มีกลไกออกฤทธิ์ต้านการติดเชื้อทางไวรัส ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ใช่ไวรัสโควิด-19 ดังนั้น จึงต้องมีการทดลองต่อยอด โดยเป็นการวิจัยในหลอดทดลอง

 

ต่อมาพบว่า ฟ้าทะลาย โจร มีกลไกออกฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ได้ แต่ก็เป็นการทดลองในหลอดทดลองเท่า นั้น ซึ่งจะมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ในคนหรือไม่ หรือมีความปลอดภัยหรือไม่ ก็ต้องเป็นการทดลองขั้นต่อไป

 

ขั้นต่อมา กรมการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ ร.พ.บำราศนราดูร ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมมือกันทดลองในมนุษย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำโครงการวิจัย แล้ว เหลือขออนุญาตจาก คณะกรรมการวิจัยในมนุษย์ เพื่อทดสอบ ซึ่งต้องดูในเรื่องของประสิทธิภาพ หลังจากที่กินฟ้าทะลายโจรเข้าไปแล้ว จะมีปริมาณสารสำคัญเท่าไรในร่างกาย และสารสำคัญเหล่า นั้นจะมีฤทธิ์ ช่วยลด ยับยั้งการติดไวรัสได้หรือไม่ ซึ่งต้องใช้เวลาในการศึกษา 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,573 หน้า 12 วันที่ 10 - 13 พฤษภาคม 2563