บทเรียนผ่อนปรนล็อกดาวน์ ระวังระบาดซ้ำรุนแรงกว่าเก่า

07 พ.ค. 2563 | 05:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,572 ประจำวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2563 โดย... พริกกะเหรี่ยง

 

 

 

        ... การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังครองแชมป์อันดับหนึ่งติดต่อกันอย่างไม่มีท่าทีว่าตัวเลขจะลดลง ขณะที่ทั่วโลกใกล้แตะ 4 ล้านคน ยุโรปหลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันเสียงร่ำร้องให้ผ่อนคลายมาตรการ “ล็อกดาวน์” เปิดกิจกรรม ด้านเศรษฐกิจและสังคม ระงมไปทั่ว

        ... ประชาชนหลายประเทศเรียกร้องให้ผ่อนคลาย เปิดศูนย์การค้า สวนสาธารณะ เปิดร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว  คลายเคลียด และเพื่อความอยู่รอดของปากท้องของผู้ประกอบการและคนทำงาน ท่ามกลางเสียงเตือนดังๆ จากองค์การอนามัยโลก WHO” แสดงความเป็นห่วง ว่าหากทั่วโลก “รีบร้อนเปิดเมืองเร็วเกินไป” ปัญหาที่ตามมาก็คือ การกลับมา “ระบาดซ้ำ” หรือระบาดรอบสองที่ WHO เตือนว่าจะ “รุนแรง” กว่าครั้งแรก ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข แพทย์ คงไม่ชอบนักเพราะคงรับมือไม่ไหว ตราบใดที่ยังไม่ยารักษาให้หายขาด

        ... ฉะนั้นการผ่อนคลายมาตรการ ล็อกดาวน์ ก็ควรที่จะทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และระมัดระวัง ปฏิบัติตามกฎ New Normal” ไม่ใช่เปิดปุ๊บก็เละปั๊บ ตัวอย่างที่เห็นอย่างการเปิดให้แรงงานต่างถิ่นเมืองภูเก็ต ออกนอกพื้นที่ได้ คนก็ทะลักแห่กันกลับบ้านจนทำให้จังหวัดปลายทางผวา! ไปทั่วประเทศ  เพราะช่วงแรกไม่มีเอกสารการยืนยันที่ชัดเจนเรื่องความปลอดภัย หลายจังหวัดจึงออกมาตรการ กักตัว กันอย่างชุลมุน

        ... เช่นเดียวกับการเปิดขายเหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ฝูงชนก็แห่กันเบียดเสียดไปกักตุนสินค้าราวกับแจกฟรี อย่างไร้สติ ไม่คิดถึงการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม หรือวันหยุดยาว คนแห่ขับรถออกต่างจังหวัด จนแน่นถนนมิตรภาพ  สิ่งเหล่านี้แสดงถึงความไร้ความรับผิดชอบและยอมรับกับ วิถีใหม่ NEW NORMAL แต่อย่างใด

        ... มาลุ้นกันว่าอีก 14 วัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่จะพุ่งมากน้อยแค่ไหน หากยังเห็นพฤติกรรมต่างๆ ดังกล่าว และในที่สุด เมื่อเปิดเมืองได้ก็สั่งปิดทันทีได้เหมือนกัน เท่ากับว่าสิ่งที่ทำมาดีตลอด เพื่อไม่ให้ “การ์ด” ตกก็ไม่เกิดประโยชน์ ต้องมาเริ่มกันใหม่หมด อีกทั้งคนทั่วไปที่รักษาความดี อยู่บ้านมาเป็นเดือน เพื่อช่วยชาติ คงเซ็งระเบิดกับพวกที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ทำไงได้มันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมาแม้ว่าจะหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตาม

        ... ฉะนั้นจึงตระหนักให้ดีกับมาตรการต่างๆ ที่ “ศบค.” หรือจังหวัดต่างๆ จะผ่อนคลายต้องกำหนดขั้นตอนให้ชัดเจนไม่ให้เป็นภาระต่อจังหวัดอื่น และภาระต่อสังคม กลายเป็นตัวแพร่ระบาดของโรค ต้องระลึกถึงเสมอว่า โรคนี้พบ ผู้ติดเชื้อ “ไม่แสดงอาการ” เป็นส่วนใหญ่ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนแพร่เชื้อโรคโดยไม่รู้ตัวและคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย นั่นแหละน่าเป็นห่วงที่สุด

        ... อีกเรื่องก็เรื่องของคนเดินทาง ด้วยสายการบิน ขณะนี้สนามบินดอนเมืองมี 3 แอร์ไลน์เปิดบริการคือ “นกแอร์” ซึ่งเปิดบินมาตลอดไม่เคยหยุดบิน แม้จะมีผู้โดยสารเลขตัวเดียวบางเที่ยวบินก็ตาม ก็ยังกัดฟันให้บริการน่านับถือ ส่วนอีกสองสายใหม่ คือ ไทยแอร์เอเชีย และ ไทยไลอ้อนแอร์ ที่ให้บริการไปยังสนามบินภูมิภาคที่จังหวัดเหล่านั้นเปิดล็อกดาวน์ แต่บางจังหวัดก็ “ต้องกักตัว 14 วัน” ผู้โดยสารต้องมอนิเตอร์ในพื้นที่ให้ชัดก่อนการเดินทาง

        ... ส่วนสายการบินไทยเวียตเจ็ทเปิดให้บริการแต่ใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งหมดเริ่มดีเดย์เปิดบินเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ข่าวร้ายที่ตามมาก็คือเมื่อต้องปฏิบัติการกฎการบินของ กพท. แน่นอนว่าเมื่อจัดที่นั่งเว้นระยะ การขายตั๋วได้ไม่เกิน 60% สิ่งที่ตามมาคือราคาตั๋วก็ปรับขึ้น ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นในราว 30% หรือเป็นสัญญาณประการหนึ่งว่า ในอนาคตอันใกล้จะเป็นบท “อวสาน” ของสายการบินต้นทุนต่ำ โลว์คอร์สแอร์ไลน์ที่ “ตั๋วราคาถูก”ม่มีในโลกอีกต่อไป หากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย และยังไม่มียารักษาโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวคงไม่กล้าเดินทางหรือหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวกันหมด

        ... บทเรียนจากการผ่อนปรนมาตรการ “ล็อกดาวน์” เปิดกิจกรรมและกิจการ เฟสแรก ไม่ว่าจะเป็นร้านตัดผม ร้านอาหารให้นั่งรับประทาน ขายเหล้า ฯลฯ การเปิดเมือง วันแรกเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม น่าจะเป็นบทเรียนแก่ผู้ประกอบการและหน่วยงานผู้ที่กำกับดูแลกฎว่าควรจะต้อง “รัดกุม” ในเรื่อง กฎ กติกา เงื่อนไข ในการควบคุมดูแลเพื่อป้องกันความเสี่ยง อย่างเป็นระบบ และมีกรอบการปฏิบัติที่ชัดเจน ทั้งผู้คุมกฎ และประชาชนเป็นคัมภีร์ในการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้การแพร่เชื้อกลับมาระบาดซ้ำอีก ดังนั้นการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะ “ทัวร์จีน” แม้จะพร้อมมาเที่ยวก็ขอให้ลืมไปได้เลย ช่วง สองสามเดือนนี้คงยังไม่ได้เห็นแน่นอน

        ... ช่วงวิกฤติโควิด-19 นี้ ธนาคารกรุงไทย มีบทบาทสำคัญยิ่งกับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ผ่านการลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” และถึงแม้อยู่ในช่วง อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติกัน แต่ ผยง ศรีวณิช นายแบงก์ใหญ่แห่งกรุงไทย ก็ขอออกมาลุยช่วยชาติอีกแบบ หลังจากลุยมาทุกรูปแบบแล้ว ทั้งออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มทุกประเภท ร่วมกับคณะกรรมการและพนักงานบริจาคเงิน เนื่องในโอกาส 54 ปีธนาคาร ร่วมบริจาคเงินในนามสมาคมธนาคารไทย เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ให้ทางการใช้สถานที่ซึ่งเป็นทรัพย์สิน NPA ของธนาคารที่อุทัยธานีและอ่างทองเป็นสถานที่กักตัว 

        ... ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน เป็นต้นมา หากเสาร์-อาทิตย์ใดว่างเว้นจากภารกิจสารพัดประชุม ก็ลงพื้นที่ไปให้กำลังใจพนักงานแบงก์กรุงไทยที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ ตรวจสอบและช่วยเหลือประชาชนที่ขอทบทวนสิทธิเงินเยียวยา 5,000 บาท ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ซึ่งเจอปัญหาประชาชนบางแห่งเข้าใจผิดว่าเป็นมิจฉาชีพ เลยต้องนำทีมเองเพื่อสร้างความเข้าใจ ทั้งที่ อยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี ชลบุรี และสมุทรปราการ  ท่ามกลางอากาศที่แสนร้อนอบอ้าวร่วม 40 องศา หัวเรือใหญ่แบงก์กรุงไทย พร้อมด้วยพนักงานก็ไม่หวั่น เดินเท้าตามตลาด ทุกตรอก ซอกซอย วันละหลายกิโลเมตร พร้อมแจกข้าวสาร อาหารแห้งที่ติดไม้ติดมือไปให้ประชาชนผู้เดือดร้อน จนชาวบ้านชาวช่องนึกว่า เป็นนักการเมืองหน้าหยกหัวหน้าพรรคใหม่มาหาเสียงซะแล้ว