รองเท้านักเรียนสะอึก  ไวรัสฉุด กำลังซื้อทรุด

05 พ.ค. 2563 | 03:00 น.

โควิด-19 ทุบตลาดรองเท้านักเรียนทรุดยาว “S.C.S.” เผยทั้งห่วงโซ่อุปทานหยุดนิ่ง ดิสทริบิวเตอร์ขายไม่ได้ กระทบหนักผู้ผลิตแบกรับต้นทุน สต๊อกหลังแอ่น ดิ้นปรับแผนหันผลิตหน้ากาก เครื่องมือแพทย์พยุงธุรกิจ

นายสมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส.ซี.เอส.ฟุตแวร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้านักเรียน ,รองเท้ากีฬา แบรนด์ เอส.ซี.เอส (S.C.S.), เบรกเกอร์, ป๊อบทีน, Catcha ฯลฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตลาดรองเท้านักเรียนได้รับผลกระทบอย่างหนักหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลประกาศเลื่อนการเปิดภาคเรียนออกไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ ทำให้การจับจ่ายซื้อสินค้าเกี่ยวกับนักเรียน ทั้งชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียน ตลอดจนตำราเรียนต้องชะลอออกไปด้วย

 

“ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เดือดร้อนทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ รายได้ที่ลดลง ทำให้กำลังซื้อชะลอไปด้วย เมื่อลูกค้าไม่ออกมาจับจ่าย ดิสทริบิวเตอร์ก็ขายสินค้าไม่ได้ เมื่อเปิดเทอมเลื่อนออกไป ผู้ปกครองย่อมคิดแก้ปัญหาเรื่องของปากท้องมากกว่า”

 

สมฤกษ์ วงศ์วีระนนท์ชัย

 

วันนี้สินค้าต่างๆ ถูกกระจายไปยังดิสทริบิวเตอร์เพื่อเตรียมการขายแล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด การขายทุกอย่างหยุดชะงัก ตัวแทนจำหน่ายร้านค้าต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศต้องแบกรับสต๊อกสินค้าไว้ เมื่อขายไม่ได้ก็ยังเก็บเงินไม่ได้ ส่งผลกระทบทั้งระบบซัพพลายเชน แม้บริษัทจะทำโปรโมชันก็ไม่ช่วยกระตุ้นการขายเท่าใดนัก เพราะสินค้าไปกระจายอยู่ที่ดิสทริบิวเตอร์แล้ว

“ตลาดรองเท้านักเรียนคาดว่าจะมีผลกระทบทำให้ยอดขายลดลงกว่า 10% ขณะที่ช่วงเปิดภาคเรียนสินค้าที่จำเป็นและได้รับความนิยมเลือกซื้อเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ เสื้อผ้าชุดเครื่องแบบนักเรียน รองลงมาคือตำราเรียน และรองเท้าและกระเป๋านักเรียน เมื่อสถานการณ์ทำให้มีเงินน้อยลง ก็จำเป็นต้องตัดรายจ่าย อาจจะเลือกซื้อน้อยลง หรือใช้ของเก่าไปก่อน เป็นต้น”

 

รองเท้านักเรียนสะอึก  ไวรัสฉุด กำลังซื้อทรุด

 

อย่างไรก็ดี บริษัทหันมาเพิ่มช่องทางการขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งแม้จะทำรายได้ไม่เท่ากับช่องทางออฟไลน์ ขณะที่หลังเปิดเทอมเชื่อว่า ราคาสินค้าจะไม่ปรับสูงขึ้นแน่นอน แต่จะเห็นการจัดโปรโมชันมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย

นายสมฤกษ์ กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการผลิต เพราะโรงงานผลิตมีพนักงานราว 3,000 คน เดิมผลิตสินค้ารองเท้านักเรียน 100% ปัจจุบันลดการผลิตเหลือเพียง 50% ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่ายลง เช่น OT ฯลฯ ซึ่งแม้รัฐบาลจะมีมาตรการออกมาช่วยเยียวยา แต่ที่สุดแล้วเมื่อธุรกิจกลับมาเดินหน้าต่อก็ไม่เหมือนเดิม เพราะสต๊อกสินค้าที่มีอยู่ และขายไม่ได้ จะถูกลากยาวต่อไปจนถึงฤดูขายครั้งหน้า และอาจจะลากยาวไปถึงเปิดเทอมปีการศึกษาหน้าด้วย

 

“บริษัทเชื่อว่าจะแบกรับภาระต่างๆ ได้จนถึงสิ้นปี ซึ่งขณะนี้เร่งศึกษาและปรับตัวเพื่อหันไปผลิตสินค้าอื่นรองรับ เช่น หน้ากาก ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น”

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่  3,571 วันที่ 3-6  พฤษภาคม  2563