5 บริบทที่ต้องจับตา หลังโควิดจบ

02 พ.ค. 2563 | 07:50 น.

บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3571 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-6 พ.ค.63

 

 

          สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง ทางสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ภายใต้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบของภาวะวิกฤติดังกล่าว ใน 5 บริบทที่จะเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

          รูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง หลังจากได้รับผลกระทบ ภาคการผลิตของจีนที่หยุดชะงักส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก แต่จีนสามารถเข้าสู่ระยะ ฟื้นฟูได้รวดเร็ว ด้วยมาตรการที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ ประกอบกับจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอก จึงเป็นโอกาสของธุรกิจและเศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นกลับมาด้วยอัตราเร่ง ในขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจอื่นอย่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกายังบอบช้ำ จากการต่อสู้กับการแพร่ระบาด

          สังคมที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลจะแพร่หลาย และเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะมาช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น แม้จะต้องมีการปรับตัวในการใช้งาน เช่น การเติบโตของการใช้งานระบบประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นชิน และเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดการณ์

 

          ธุรกิจสตาร์ตอัพ จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เพราะระบบ เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ผู้บริโภคส่วนใหญ่หันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าความต้องการใหม่ๆ นักลงทุนจะชะลอการลงทุน ต้องสำรองเงินไว้เพื่อฟื้นฟูธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพ แต่ในขณะเดียวกันอาจเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ตอัพกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

          การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดและเกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

          สุดท้ายทิศทางอุตสาหกรรมกับการพึ่งพาตัวเอง ด้วยวิกฤตการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง ที่เชื่อมโยงกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ เพราะวิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นกลุ่มบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและบริการที่มีมูลค่าสูง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต

          ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรรม (องค์การมหาชน) ชี้ให้เห็นว่า บริบทดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมนวัตกรรมต้องที่มีพลานุภาพในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านด้วย