หอการค้าฯผิดหวังแบน2สาร

03 พ.ค. 2563 | 04:15 น.

สภาหอการค้าฯผิดหวัง คณะกรรมการวัตถุอันตรายยืนแบน 2 สารเคมี ตามมติ วันที่ 27 พ.ย. หวั่นลามชิ่งกระทบวัตถุดิบอาหารสัตว์-ยันบะหมี่นำเข้าไม่ได้ เชื่อกระทบผู้บริโภคค่าครองชีพถีบตัวสูงแน่ 

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน(30 เม.ย.2563)มีมติคงการประกาศแบนวัตถุอันตราย 2 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง) ที่จะบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วนวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ให้ใช้มาตรการจำกัดการใช้ตามมติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ขณะที่การหาสารทดแทนนั้น ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปจัดหาสารทดแทนมาใหม่ เนื่องจากสารทดแทนเสนอมา 3-4 ชนิด มีราคาสูงมาก และนำกลับมาเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุมนัดถัดไปในเดือนพฤษภาคมนี้

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า รู้สึกผิดหวังกับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ยกเลิกการใช้สารดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ มาม่า ไวไว ผลิตไม่ได้เลย รวมทั้งอาหารสัตว์ก็หยุดหมด วัตถุดิบหรือสินค้าจะนำเข้ามาได้อย่างไร เพราะกำหนดค่าสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์ (Zero Tolerance)

 

ทั้งนี้การนำเข้าสินค้าปกติจะเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนดโดยโคเด็กซ์ (Codex) ที่กำหนดให้มีสารตกค้างได้ไม่เกิน 0.01-0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนดเป็นศูนย์ เท่ากับนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าตามโคเด็กซ์ไม่ได้แล้ว ซึ่งภาครัฐมีทางออกให้กับผู้ประกอบการหรือไม่ หากนำเข้าไม่ได้จริง ก็จะส่งผลทำให้อาหารสำเร็จรูปผลิตไม่ได้ จากการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤติขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก เป็นการซํ้าเติมระบบเศรษฐกิจไทย และมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตินี้ เชื่อว่ารัฐบาลคิดอย่างนี้ไม่นานคงจะมีคนออกมาประท้วงแน่นอน ไม่เชื่อรอดูแล้วกัน

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มนํ้ามันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การยกเลิกการใช้สารดังกล่าว เชื่อว่ายังไม่ยุติเพียงแค่นี้ จะมีกลุ่มผู้คัดค้านออกมา แต่ขอให้สถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุดก่อน เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยไปหารือกับนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้จัดหาเครื่องจักรนำมาใช้ทดแทน แต่ถามว่านำมาใช้ได้หรือไม่ แล้วใครจะมารับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ต้องใช้เงินเป็นหมื่นล้านบาท รัฐจะมาออกให้หรือไม่ ซึ่งเกษตรกรคงไม่ยอมรับการแบนสาร และเชื่อว่าในภาคอุตสาหกรรมก็คงไม่ยอมเช่นเดียวกัน

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า มติคณะกรรมการดังกล่าว จะส่งผลให้ไม่เห็นสารพิษดังกล่าวสู่แผ่นดินไทยอีก และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแข็งขันในการตรวจสต๊อกสารดังกล่าวอยู่ในมือเอกชนและเกษตรกรจำนวนเท่าไร หวังว่าจะหมดไปภายในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,571 วันที่ 3 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563