ทางรอดที่ต้องเลือก“บินไทย”ในอุ้งมือ “บิ๊กตู่”

29 เม.ย. 2563 | 03:43 น.

 

ไม่ใช่แต่การบินไทยที่กำลัง “โคมา” สายการบินทั่วโลกตกอยู่ในอาการเดียวกัน เมื่อฝูงบินทั่งโลก“จอดนิ่งสนิท” สายการบินแต่ประเทศต่างร้องระงมให้รัฐบาลเข้ามาอุ้ม ล่าสุดรัฐบาลเยอรมนีเตรียมอัดงบ 9 พันล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือสายการบินลุฟท์ฮันซา  สายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย สายการบินต้นทุนต่ำ ประกาศจะเข้าแผนล้มละลาย

ทางรอดที่ต้องเลือก“บินไทย”ในอุ้งมือ “บิ๊กตู่”
สายการบินยักษ์ใหญ่ อย่าง บริติช แอร์เวย์สของ อังกฤษ เตรียมเจรจากับสหภาพแรงงานฯ เพื่อปลดนักบินกว่า 800 คน จากที่มีอยู่ราว 4,500 คน  สายการบินนอร์เวย์เจี้ยน แอร์  ปลดพนักงาน 50 % หลัง “ทรัมป์” สั่งแบนเที่ยวบินจากยุโรป เพื่อสกัดไวรัสมรณะ และสายการบินในสหรัฐอเมริกา ตกชะตากรรมเดียวกัน คือปลดคน ขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หลังไร้เงาผู้โดยสาร จากมาตรการ “ล็อกดาวน์” ของหลายประเทศ ปิดประตูบ้านไม่เวลคัมต่างชาติอีกต่อไป 
 
 

สายการบินในประเทศไทยก็ตกอยู่ในอาการเดียวกัน  8 สายการบินกำลังพะงาบ ๆ ร้องให้รัฐบาลสนับสนุนเงินกู้ซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อต่อลมหายใจ พยายามรักษาพนักงานเอาไว้  และในที่สุดทุกสายการบินก็ต้องดาวน์ไซซ์เพื่อให้สอดรับกับธุรกิจที่เปลี่ยนไปเป็น New Normal 


แต่สำหรับการบินไทย สายการบินแห่งชาติอาการหนักกว่ารายอื่นเพราะแผลเก่ายังรักษาไม่หาย มาติดเชื้อ“โควิด-19”  ซ้ำเติมให้การบินไทยอาการหนักกว่าชาวบ้าน เพราะนอกจากขาดทุนสะสมปีที่แล้วปีนี้รวมกันเกือบ 2 หมื่นล้านบาท แล้วพิษโดวิดยังทำให้กระแสเงินสดการบินไทยขาดสะปั้นและจะเหลือจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในเดือนพฤษภาคมนี้เท่านั้น หลังจากตัดค่าใช้จ่ายทุกวิถีทางแล้ว 

ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามา “อุ้ม” ไม่อยากเห็นสายการบินแห่งชาติ “เจ๊ง” ไปต่อหน้าก็ต้องอัดฉีดเงินเข้ามาสนับสนุน ซึ่งคาดว่าจะใช้ 7 หมื่นล้านบาท ซี่งการได้เงินมาก็ต้องแลกด้วยแผนที่เห็นว่าการบินไทยยังมีอนาคต ไม่ให้เม็ดเงินก้อนใหม่สูญเปล่าและเกิดปัญหาซ้ำซาก 

แผนฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้จึงไม่เหมือนเดิมและหั่นทุกอย่างแทบไม่เหลือซากเดิม ตั้งแต่การหาพันธมิตรใหม่เข้ามาร่วมทุนไม่ว่าจะเป็น ยักษ์ใหญ่อย่าง ทอท.หรือปตท. แต่ไม่ทันไรทุกบริษัทก็ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ทันทีทันควัน

ทางรอดที่ต้องเลือก“บินไทย”ในอุ้งมือ “บิ๊กตู่”

แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือการลดขนาดลดไซซ์หรือ“ดาวน์ไซซ์” เพื่อแลกการอุ้มการบินไทยให้อยู่รอด ตามแผนจึงลดทุกอย่าง สิ่งแรกคือ พนักงานจากกว่า 2 หมื่นคนลดลงเหลือครึ่ง ส่วนพนักงานไม่ประจำ (เอาต์ซอร์ซ) กว่าหมื่นคน ยกเลิกการจ้างทั้งหมด 

จำนวนเครื่องบินจาก 80 ลำหั่นเหลือครึ่งหนึ่งหรือ 39 ลำ การทำงานนอกเวลาหรือโอทีไม่มีคือเป็นศูนย์ เส้นทางบินเหลือไว้เส้นทางบินหลักที่คิดว่ามีผู้โดยสารแน่ ๆ เท่านั้น พร้อมกับการยุบสำนักงานต่างประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด

ทางรอดที่ต้องเลือก“บินไทย”ในอุ้งมือ “บิ๊กตู่”

ล่าสุดข้อมูลที่เล็ดลอดออกมาจากกระทรวงคมนาคม จึงจะมีการตัดเส้นทางบินถึง 20 เส้นทางบิน ยกเลิกทำการบินไปยัง 17 เมืองปรับจุดบินเหลือ 31 เมือง จากเดิม 48 เมือง ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก จุดบินย่อย ๆ ย่างกุ้ง ฮานอย ปีนัง ฯลฯ  บางส่วนให้ไทยสมายล์เข้าไปบินแทน ส่วนยุโรป จะยกเลิกบิน มิลาน  โรม ประเทศอิตาลี และมอสโก ประเทศรัสเซีย  ลดจุดบินในยุโรปจาก 13 จุดบิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ยังมีแผนการแยกหน่วยธุรกิจที่ยังพอมีกำไร  5 ยูนิตหลัก มาตั้งบริษัทใหม่เป็น หาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนเป็นบิสิเนสยูนิต ประกอบด้วย ฝ่ายครัวการบิน  ฝ่ายบริการภาคพื้น  ฝ่ายคลังสินค้า ฝ่ายช่าง และสายการบินไทยสมายล์  ส่วนการบินไทยทำหน้าที่เป็นเพียง “โฮลดิ้ง” เท่านั้น และแต่ละยูนิตจะต้องมีการหาพันธมิตรเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ถือหุ้นตามสัดส่วนของบริษัทที่ตั้งใหม่ เป็นต้น 

ทางรอดที่ต้องเลือก“บินไทย”ในอุ้งมือ “บิ๊กตู่”

ซึ่งหากยึดตามแผนการแยกบิสิเนสยูนิตออกมาตั้งบริษัทใหม่และกระทรวงการคลังยอมลดสัดส่วนถือหุ้นใหญ่ ขายออกให้วายุภักษ์ 3 %การบินไทยก็จะสิ้นสภาพการเป็น “รัฐวิสาหกิจ” ทันที เพราะจากจำนวนหุ้นที่คลังถืออยู่ 51.03 % ก็จะเหลือ 48 % หลังจากนี้การบินไทยก็จะคล่องตัวขึ้น นี่คือหนี่งในแผนที่มีการขบคิดกัน 

อย่างไรก็ดี สำหรับตัวเลขรายได้การบินไทยในปี 2562 พบว่ามีรายได้เฉลี่ย 184,046 ล้านบาท ตกเดือนละ 15,337 ล้านบาท พิษไวรัสโควิด-19 ทำให้รายได้เหลือเป็นศูนย์บาททันที เมื่อวันที่ 1 เมษายนหลังจาก ปลดระวางจอดเครื่องบินทั้งหมดนิ่งสนิท  และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะลากยาวไปนานแค่ไหน แต่ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม แล้วการบินไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร หากรัฐบาลไม่ยื่นมือเข้ามาอุ้ม  !!