ก.อุตฯ ชูหน้ากากผ้ามีคุณภาพผ่านการตรวจรับรอง

28 เม.ย. 2563 | 06:10 น.

กระทรวงอุตสาหกรรม ยันผลิตหน้ากากผ้าคุณภาพ ผ่านการตรวจรับรองมีผลห้องทดลองยืนยันใช้งานได้จริง ป้องกันละอองสารคัดหลั่งได้ พร้อมลุยต่อเร่งจัดส่งหน้ากากอนามัยชนิดผ้าล็อต 2

นางวรวรรณ  ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและบริหารโครงการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปิดเผยว่า คุณภาพมาตรฐานของหน้ากากผ้าที่ผลิตโดยกระทรวงอุตสาหกรรม นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวง ฯ มีความใส่ใจและเน้นย้ำในกระบวนการผลิตโดยเน้นที่ความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก โดยคุณลักษณะของผ้าและหน้ากากผ้าเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ข้อแนะนำคุณลักษณะผ้าที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชนเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้กำหนดคุณลักษณะผ้า   และคุณลักษณะด้านความปลอดภัยไว้ 

ก.อุตฯ ชูหน้ากากผ้ามีคุณภาพผ่านการตรวจรับรอง

ทั้งนี้  ผ้าที่นำมาใช้ทำหน้ากากผ้าทุกชิ้นได้ผ่านการตรวจรับรองการทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและคุณลักษณะด้านความปลอดภัยจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ  ทั้งก่อนและหลังผลิตหน้ากากผ้า ซึ่งจะต้องมีลักษณะทั่วไป คือ สะอาด ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์  ไม่มีลายพิมพ์  อ่อนนุ่มต่อผิวสัมผัส และไม่เกิดการระคายเคือง มีน้ำหนักต่อหน่วยพื้นที่  ไม่น้อยกว่า 80 กรัมต่อตารางเมตร และไม่เกิน 220 กรัมต่อตารางเมตร (หากเกินจะส่งผลให้หายใจได้ลำบาก)

ผ่านการทดสอบคุณลักษณะด้านความปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง โดยการทดสอบสีเอโซ และปริมาณฟอร์แมลดีไฮด์ ซึ่งหน้ากากผ้าจะมีการตัดเย็บแบบ  2 ชั้น มีการทดสอบการผ่านได้ของอากาศ (Air Permeability) (ต้องไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อตารางเซนติเมตรต่อวินาที) และความหนาต้องไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร  จึงขอให้มั่นใจว่า “สามารถใช้เพื่อป้องกันละอองสารคัดหลั่ง จากการไอหรือจาม (ขนาด 5 ไมครอน) และใช้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปได้

“การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวง ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมจัดทำหน้ากากผ้าจำนวน 10 ล้านชิ้น เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน”

ก.อุตฯ ชูหน้ากากผ้ามีคุณภาพผ่านการตรวจรับรอง

สำหรับการแจกหน้ากากผ้าของกระทรวงอุตฯแบ่งออก กลุ่มหลัก คือ กลุ่มที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 5,450,000 ชิ้น จัดส่งโดยไปรษณีย์ไทย ตามข้อมูลทะเบียนบ้านครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตามบัญชีรายชื่อในทะเบียนบ้าน 1 คนต่อ 1 ชิ้น ซึ่งมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการจัดส่งให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  โดยได้ประสานงานใกล้ชิดกับผู้ผลิตและผู้จัดส่งหน้ากากคือไปรษณีย์ไทยให้ผลิตและจัดส่งให้เป็นไปตามแผนงาน  โดยผู้ผลิตจะส่งหน้ากากทั้งหมดให้กระทรวงอุตสาหกรรมภายในวันที่ 7 พฤษภาคม  2563 

ส่วนการจัดส่งได้มีการหารือกับไปรษณีย์ไทยเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานและเร่งจัดส่งให้แก่ผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมากกว่า รายอย่างเร่งด่วนเป็นลำดับถัดไป ขอให้ประชาชนมั่นใจได้รับหน้ากากผ้าทันเวลาตามจำนวนในทะเบียนราษฎรแน่นอน   

กลุ่มที่ 2 ปริมณฑล และพื้นที่เสี่ยง จำนวน 2,500,000 ชิ้น มอบหมายให้อุตสาหกรรมจังหวัด ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด แจกจ่ายประชาชนในพื้นที่ และกลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่/พนักงานกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ จำนวน 2,050,000 ชิ้น

              นางวรวรรณ กล่าวต่อไปอีกว่า ต้นทุนในการผลิตหน้ากากผ้ากระทรวงอุตสาหกรรม มีต้นทุนของหน้ากากผ้าอยู่ที่ 6.08 บาท/ชิ้น และค่าบริหารจัดการของไปรษณีย์ไทยแบบพัสดุ EMS 7 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองส่วนสูงกว่างบประมาณที่ได้รับการจัดสรร โดยต้นทุนในส่วนหน้ากากผ้า (ต่อชิ้น) ประกอบด้วย หมวดวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ต้นทุนผ้าที่เป็นไปคุณสมบัติตามเกณฑ์สถาบันสิ่งทอ พร้อมค่ายางยืดหู 2 ข้าง  หมวดการผลิต ได้แก่ ค่าแรงตัด เย็บ และ QC หมวดบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ค่าซอง การพิมพ์และแพ็คสินค้า หมวดทดสอบ ได้แก่ ค่าตรวจสอบคุณสมบัติของผ้าก่อนผลิต ค่าตรวจสอบหน้ากากผ้าหลังผลิตเสร็จตามจำนวนล็อตที่มีการส่งมอบ  และหมวดขนส่งถึงจุดที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด

ก.อุตฯ ชูหน้ากากผ้ามีคุณภาพผ่านการตรวจรับรอง

              “หากประชาชนท่านใดได้รับหน้ากากอนามัยไม่ครบถ้วนตามจำนวนรายชื่อในทะเบียนบ้าน หรือมีความประสงค์ตรวจสอบสิทธิ์ และสถานะการจัดส่ง  หรือหากมีความจำเป็นต้องการหน้ากากเพิ่มเติม สามารถติดต่อแจ้งเรื่องได้ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางเว็บไซต์ www.industry.go.th และ www.หน้ากากไทยต้านโควิด.com หรือสามารถติดต่อแจ้งปัญหาได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 02-202 3737 หรือติดต่อผ่านช่องทางศูนย์บริการสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตสาหกรรม (Crisis Management Center)”