คำนึงรอบด้าน มาตรการรัดกุม ผ่อนคลายล็อกดาวน์

23 เม.ย. 2563 | 03:55 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3568 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย.63

          สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่วันที่ 21เม.ย.เพิ่มขึ้น 19 ราย เสียชีวิตสะสม 48 ราย ป่วยสะสม 2,811 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 2,108 ราย เส้นกราฟชี้ลงในทิศทางที่แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ดูแลควบคุมโรคดีขึ้น จากการที่คนไทยให้ความร่วมมืออย่างเต็มกำลังในการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจว่ายอดผู้ติดเชื้อจะกลับมามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ หากรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการที่ดำเนินการมาเกือบระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา

          ประเทศไทยเลือกใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ในการควบคุมโรคระบาด โดยไม่ถึงกับล็อกดาวน์ปิดเมืองตลอดเวลาไม่ให้คนออกจากบ้าน แต่ใช้มาตรการเพิ่มระยะห่างของผู้คน เลิกกิจกรรมทางสังคมที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนหมู่มาก ปิดสถานบริการห้างร้าน แหล่งชุมนุมชน ร่วมไปกับมาตรการเคอร์ฟิวส์ ตามช่วงเวลาภายใต้พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าไปผสมผสาน ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการกึ่งล็อกดาวน์นี้ช่วยให้ประเทศไทยควบคุมการแพร่ระบาดออกมาในทิศทางที่ดี

​​​​​​​          มีการประเมินสถานการณ์จากนักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ อดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้สถานการณ์ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดย 32 จังหวัดที่ไม่พบผู้ติดเชื้อในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และมี 38 จังหวัดมีผู้ป่วยประปรายในรอบสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และ 7 จังหวัดมีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ มีต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ควรดำเนินการชั่วคราวในระยะเวลาจำกัด หากเนิ่นนานโดยไม่จำเป็นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทำให้เกิดการตกงาน สร้างความกดดันทางจิตใจ และอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมากในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

​​​​​​​          รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องประเมินสถานการณ์ให้รัดกุมรอบคอบ หากจะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เพราะหากการแพร่ระบาดของโรคกลับมาเพิ่มขึ้นใหม่ หลังเปิดเศรษฐกิจจะทำให้มาตรการที่ทำมาไร้ผลในทันที อาจต้องใช้มาตรการเปิดแบบค่อยเป็นค่อยไปและสถานที่ที่จะเปิดต้องมีมาตรการป้องกันการชุมนุมของคนอย่างเป็นระบบอย่างกรณีห้างสรรพสินค้า ส่วนกรณีผับ บาร์ สถานบันเทิงกิจกรรมที่เผชิญหน้าต้องทอดระยะเวลาไปก่อน ประเมินให้รอบด้านอย่าให้เสียของกับมาตรการที่ทำมา เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นโควิด-19 ไปด้วยกัน