ตลาดคอนโดฯพลิกโฉม รับไลฟ์สไตล์ Work From Home

20 เม.ย. 2563 | 00:15 น.

ผ่ามุมคิด

ภาพ Covid Shock กระทบธุรกิจ นำมาซึ่งแนวโน้มการปรับฐานครั้งใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย รีเซตตั้งแต่แนวคิดโมเดลการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ จำนวนซัพพลายใหม่ในแต่ละปี ตลอดจนการพัฒนาโปรดักต์ การออกแบบบ้านหรือ คอนโดฯ ที่ต้องตอบโจทย์  New Normal (ความปกติใหม่) ของกลุ่มผู้บริโภคยุคหลังวิกฤติ ขณะนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ระบุ “ฐานเศรษฐกิจ” ชี้สถานการณ์โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจภาพรวม ลูกค้ากังวล กักตัวออกมาช็อปบ้าน-คอนโดมิเนียมน้อยลง แม้ทุกค่ายดิ้นขายออนไลน์ช่วย ท่ามกลางเป้าหมาย ระบายสต๊อกสร้างเสร็จเพิ่มเงินสดในมือให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้บริษัท คิดใหม่ มองข้ามช็อต เดินหน้าพัฒนาโครงการแนวราบรับโอกาสพร้อมเล็ง “คอนโดฯขนาดใหญ่” จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น รองรับไลฟ์สไตล์ Work From Home ลบภาพจำคอนโดฯ ห้องเล็กใจกลางเมือง

 

เร่งระบายสต๊อก

สถานการณ์โควิด-19 นับเป็นความกังวลใหญ่ต่อสภาพเศรษฐกิจไทย ณ ขณะนี้ คาดจะส่งผลให้คนมีหนี้สินมากกว่าคนที่ติดเชื้อหรือเสียชีวิตจากการติดไวรัสด้วยซ้ำ ส่วนความกังวลในแง่ความปลอดภัย ก็กระทบต่อการขายโปรดักต์กลุ่มที่มีมูลค่าและต้องใช้เวลาการตัดสินใจ เช่น บ้าน, คอนโดฯ ขณะที่กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจขณะนี้ เชื่อว่าดีเวลลอปเปอร์ทุกราย คงต้องระบายสต๊อกให้ได้มากที่สุด เพื่อถือเงินสดไว้ป้องกันความเสี่ยง โดยช่วงไตรมาส 2 ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนยังหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านนั้น บริษัทใช้วิธีกระตุ้นยอดขาย ผ่านโปรโมชันพิเศษ เช่น Supalai 2020 แจก Double ลด Double ฟรีค่าธรรมเนียม และฟรีเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ซึ่งพบลูกค้าให้การตอบรับค่อนข้างดี แม้จะเพิ่งออกโปรโมชัน จึงคาดจะทำให้สต๊อกโครงการสร้างเสร็จพร้อมอยู่รวมทั้งกลุ่มบ้านและคอนโดฯ ที่ค้างอยู่ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ลดลงได้ระดับหนึ่ง ส่วนสถานการณ์นับหลังจากนี้ ต้องจับตารายเดือน คาดไตรมาส 3 น่าจะมีทิศทางดีขึ้น

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม

 

 “สถานการณ์ยิ่งจบเร็วเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้นเท่านั้น ส่วนตลาดคอนโดฯ คงต้องรอให้สถานการณ์จบ ตอบไม่ได้จะกลับมาเมื่อไหร่ อย่างไร”

ขายออนไลน์แค่ตัวช่วย

นายไตรเตชะ ยังกล่าวถึง กลยุทธ์ขายบ้าน-คอนโดฯ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ หรือ online Booking ที่กำลังเป็นทางออกของผู้ประกอบการในช่วงนี้ ว่า บริษัทเอได้เพิ่มช่องทางการขายดังกล่าวให้กับลูกค้าเช่นเดียวกัน นำร่องใน 9 โครงการคอนโดฯ และจะขยับไปใช้กับกลุ่มบ้านในกทม.และ ต่างจังหวัดต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางออนไลน์นั้น จำกัดและคงมีผลเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่เคยเห็นหรือศึกษาโครงการนั้นๆ มาก่อนแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ได้มีอิทธิพลมากพอในการเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เพราะยังเชื่อว่า การเลือกซื้อบ้าน-คอนโดฯ ต้องอาศัยการศึกษาทางกายภาพประกอบ เช่น ทำเลที่ตั้ง ลักษณะการออกแบบ และคุณภาพของงาน และบรรยากาศจริง ที่ต้องเป็นที่พอใจยอมรับของผู้ซื้อจริงๆ ไม่ใช่การซื้อผ่านภาพฉาย หรือเทคนิคต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้กันอย่างคึกคัก ฉะนั้นไม่ว่าจะพยายามอย่างไร ก็คงเห็นภาพยอดขายที่ลดลงแน่นอน เพราะช่องทางออนไลน์อาจเป็นเพียงตัวเสริมรองรับช่วงสถานการณ์เท่านั้น

 

 “ออนไลน์ เป็นเพียงช่องทางรองรับเท่านั้น คงไม่ใช้การเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ”

ลบความจำคอนโดฯจิ๋ว

ส่วนแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตลาดที่อยู่อาศัยในอนาคตอย่างชัดเจน จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เช่น หลายบริษัทปรับนโยบายการทำงานสู่การ Work From Home ส่งผลคนใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้นนั้น นอกจากจะสร้างความคึกคักให้กับตลาดบ้าน ซึ่งมีพื้นที่มากกว่าคอนโดฯแล้ว ความต้องการในกลุ่มคอนโดฯสำหรับกลุ่มที่ยังมีความจำเป็นอยู่ในเมือง ก็ถูกปรับตามไปด้วย พบตลอดช่วงเดือนที่ผ่านมา มีลูกค้าหลายราย โยกย้ายเข้ามาซื้อคอนโดฯในกลุ่มที่มีขนาดห้องใหญ่มากกว่า 40 ตร.ม. ของบริษัทมากขึ้น เพราะพื้นที่ในห้องกลายเป็นเรื่องจำเป็น ทั้งการรักษาระยะห่าง และใช้ในการทำงาน ทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น ต่างจากเดิมที่ส่วนใหญ่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นหลัก

 

“เทรนด์การอยู่อาศัยคอนโดฯขนาดเล็ก เพราะสู้ราคาซื้อต่อตร.ม. ไม่ไหว และชินกับการอยู่นอกบ้าน จะกลายเป็นเรื่องอดีต เพราะคนจะกลับมาหาซื้อห้องที่ใหญ่ขึ้นจากความจำเป็นที่เปลี่ยนไป โปรดักต์ห้องขนาดเล็กต่ำกว่า 30 ตร.ม. ที่ฮิตก่อนหน้าจะเสียเปรียบการแข่งขันในอนาคต”

 

ทั้งนี้ นับเป็นความได้เปรียบของบริษัท หลังคอนโดฯส่วนใหญ่ถูกออกแบบไว้ขนาดใหญ่ นับเป็นดีไซน์ที่รองรับอนาคตหลังโควิด-19 ไว้แล้ว ส่วนกลุ่มแนวราบ บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ตามปกติ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ประมาณ 2-3 โครงการ หลังลูกค้า มีความต้องการโปรดักต์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอยู่ระหว่าง พัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ รับอนาคต

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,567 วันที่ 19-22 เมษายน 2563