‘โควิด-19’ ฟาดแรง คาดไตรมาส 2 ตกงานทั่วโลก 195 ล้านคน

17 เม.ย. 2563 | 08:15 น.

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ไอแอลโอ คาดการณ์ผลกระทบของโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ที่จะมีผลต่อตลาดแรงงานทั่วโลกว่า ทั้งผลทางตรงของโรคระบาดเอง และมาตรการควบคุมโรคที่รัฐบาลประเทศต่างๆ นำมาใช้อย่างเข้มงวด ซึ่งหมายรวมถึงมาตรการปิดเมือง ระงับกิจกรรมการชุมนุม ปิดสถานบริการ ลดเวลาทำการของร้านค้า มาตรการเคอร์ฟิว และอื่นๆ จะทำให้ชั่วโมงการทำงานลดลง 6.7% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวหมายถึงการทำงานของพนักงานเต็มเวลา 195 ล้านอัตรา

ไอแอลโอ ซึ่งเป็นหน่วยงาน หนึ่งภายใต้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ปัจจุบันคนทำงาน 4 คนในทุกๆ 5 คนของตลาดแรงงานโลก กำลังได้รับผลกระทบทางใดทางหนึ่งจากมาตรการควบคุมโรคระบาดดังกล่าว ซึ่งหมายถึงคนงาน 2,700 ล้านคนจากทั้งหมด 3,300 ล้านคนทั่วโลก

‘โควิด-19’ ฟาดแรง คาดไตรมาส 2 ตกงานทั่วโลก 195 ล้านคน

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไอแอลโอประมาณการว่า ภายในสิ้นปีนี้ อาจจะมีจำนวนคนตกงานจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกือบๆ 25 ล้านคน แต่มาถึงขณะนี้ ไอแอลโอเชื่อว่า ตัวเลขคนตกงาน ณ สิ้นปีนี้ จะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้เป็นอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคได้ทวีความรุนแรงและขยายขอบเขตออกไปกว้างไกลทั่วโลกมากกว่าที่เคยคาดคิดกันไว้

ทั้งนี้ ไอแอลโอระบุว่า จำนวนคนตกงานของปีนี้ที่สุดแล้วจะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็วแค่ไหน และมาตรการเชิงนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลมากน้อยเพียงใด

นับตั้งแต่ที่ไอแอลโอเผยแพร่รายงานการประเมินสถานการณ์ออกมาครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ยอดของผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 6 เท่า โดยปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกสูงเกิน 1,450,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 83,568 ราย (ข้อมูลจากมหาวิทยาลัย จอห์น ฮอปกินส์ ของสหรัฐอเมริกา)

‘โควิด-19’ ฟาดแรง คาดไตรมาส 2 ตกงานทั่วโลก 195 ล้านคน

“นี่คือวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา” แถลงการณ์ของไอแอลโอระบุ นายกาย ไรเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ของไอแอลโอ เปิดเผยว่า ทั้งนายจ้างและลูกจ้างในธุรกิจต่างๆ ของประเทศอุตสาหกรรมพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ต่างก็กำลังเผชิญกับ “หายนะระดับมหันตภัย” ซึ่งนั่นหมายความว่า ในการรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายนี้ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นจะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มีความมุ่งมั่น และลงมือดำเนินการอย่างฉับไว พร้อมทั้งต้องร่วมมือกัน

 “ลงมือทำสิ่งที่ถูกต้อง เร่งด่วนฉับไว มีมาตรการที่ดี สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าเราจะรอดจากโรคร้ายนี้ หรือพ่ายแพ้ให้มัน” ทั้งนี้ ไอแอลโอประมาณการว่า คนทำงาน 38% หรือประมาณ 1,250 ล้านคนทั่วโลก กำลังทำงานอยู่ในภาคธุรกิจที่สุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่งหรือถูกลดจำนวนคนงาน หรือไม่เช่นนั้นก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกลดเวลาทำงาน และลดเงินเดือน ซึ่งภาคธุรกิจกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวนี้ ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ท่องเที่ยวและการโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต


หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 23ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,566 วันที่ 16 - 18 เมษายน พ.ศ. 2563