อัยการรอรับลูกตร. ฟ้อง “ข้อมูลเท็จ” รับเงินเยียวยาโควิด

11 เม.ย. 2563 | 06:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3565 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 12-15 เม.ย.63 โดย... ว.เชิงดอย

       ++ เม็ดเงินได้ไหลเข้ากระเป๋ากันไปบ้างแล้ว คนละ 5,000 บาท สำหรับผู้ที่ตกงาน หรือได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-19 หรือ โควิด-19 ที่ได้ลงทะเบียนกับกระทรวงการคลัง ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com โดยยอดผู้มาลงทะเบียน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา มี 24.8 ล้านคน

       ++ ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า เบื้องต้นมีผู้ผ่านเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือ 1.68 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลทยอยโอนเงินให้ตั้งแต่วันที่ 8-10 เมษายนนี้ และตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้ (วันจันทร์ที่ 13 เม.ย.) จะทยอยโอนเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ทุกวัน ส่วนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจะส่ง SMS แจ้งในช่วงวันที่ 11-12 เมษายนนี้ ขณะที่การ “คัดกรอง” ผู้ที่มาลงทะเบียนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 เมษายนนี้

ผ้       ++ จากข้อมูลผู้มาลงทะเบียนกว่า 24.8 ล้านคนนั้น พบว่า กลุ่มรับจ้างทั่วไปลงทะเบียน 11.7 ล้านคน ผ่านเกณฑ์แล้ว 4 แสนคน กลุ่มค้าลงทะเบียน 6.3 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 6 แสนคน กลุ่มที่มีนายจ้างลงทะเบียน 1.9 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 4 แสนคน กลุ่มขับรถรับจ้าง ลงทะเบียน 3 แสนคน ผ่านเกณฑ์ 1 แสนคน กลุ่มผู้ค้าสลาก ลงทะเบียน 2 แสนคน ผ่านเกณฑ์ 2 หมื่นคน มัคคุเทศก์ ลงทะเบียน 3 หมื่นคน ผ่านเกณฑ์ 1 หมื่นคน อาชีพอิสระอื่นๆ ลงทะเบียน 1.7 ล้านคน ผ่านเกณฑ์ 1 แสนคน ส่วนกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายได้รับการช่วยเหลือ แต่มาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ได้แก่ อาชีพอิสระบางประเภท อาทิ ค้าขายออนไลน์ รับจ้าง (แรงงานก่อสร้าง) โปรแกรมเมอร์ ก็จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่ม “ผู้ค้าออนไลน์” พบว่ามาลงทะเบียน 2.1 ล้านคน จะไม่ผ่านเกณฑ์เลยแม้แต่รายเดียว เนื่องจากรัฐไม่ได้สั่งปิดกิจการ แต่การค้าขายที่ไม่ดีมาจากผลกระทบเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาโควิด-19

       ++ ลวรณ บอกว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท จะคงไว้ที่ 3 เดือนก่อน ส่วนที่จะขยายไปอีกเป็น 6 เดือนนั้น จะพิจารณาตามความจำเป็นของสถานการณ์ เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้ใช้เยียวยา 600,000 ล้านบาท กำหนดให้กระทรวงต้องมีการเสนอโครงการเข้าคณะกรรมการกลั่นกรอง และเสนอความเป็นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 อาจจะสิ้นสุดเร็วหรือช้ากว่าที่คาด ไม่มีใครรู้แน่นอน

       ++ อีกคนที่ออกมาให้ความกระจ่างเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ว่าจะได้รับ 3 หรือ 6 เดือนกันแน่ เจ้ากระทรวงการคลัง อุตตม สาวนายน ย้ำว่า เป็นเรื่องของการตั้งกรอบเวลาในการเยียวยาไว้ เนื่องจากยังไม่รู้ว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-9 ว่า จะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ ดังนั้น ในระยะแรกจึงจะมีการเยียวยาในช่วง 3 เดือนก่อน แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็สามารถขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้อีกตามความเหมาะสม ในทางกลับกันหากสถานการณ์จบก่อน ก็สามารถยุติการเยียวยาได้เช่นกัน

       ++ นอกเหนือจาก “กลุ่มอาชีพต่างๆ” ที่ได้รับความเดือดร้อน และได้รับการช่วยเหลือดูแลจากรัฐบาล ในมาตรการเดือนละ 5,000 บาทแล้ว ล่าสุด อุตตม สาวนายน บอกว่า ที่ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทมานั้น ในส่วนมาตรการเร่งด่วน 600,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ 3 ส่วนประกอบด้วย เยียวยาแรงงาน อาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ให้เงินชดเชยเดือนละ 5,000 บาท 6 เดือน อีกส่วนไปใช้ดูแลระบบสาธารณสุข และสุดท้ายใช้ดูแล “เกษตรกร” ซึ่งในส่วนของเกษตรกร กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้จ่ายเงินสดช่วยเหลือเข้าบัญชีโดยตรงเลย เกษตรกรแต่ละรายจะได้เงินในจำนวนที่ไม่เท่ากัน

       ++ เบื้องต้นในหลักการจะช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือนตามข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมถึงกลุ่มอื่นๆ ซึ่งกำลังดูแนวทางให้ครอบคลุมที่สุด ทั้งในแง่ปัจจัยการผลิต ค่าครองชีพ และการช่วยเหลือโดยดูผลกระทบภัยแล้งไปด้วย

       ++ ส่วนวงเงินในการช่วยเหลือ “กลุ่มเกษตรกร”กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกัน โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเท่ากับภาคแรงงาน 30,000 บาท แต่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมีเกษตรกรอยู่ในเป้าหมายประมาณ 8-9 ล้านครัวเรือน จำนวนทั้งหมด 17 ล้านคน ...ถึงคิว “กลุ่มเกษตรกร” ต้องรอลุ้นว่าจะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือเป็น “รายคน” หรือ “รายครัวเรือน” และได้จำนวนเท่าไหร่

       ++ มีคำเตือนออกมาจาก โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ว่า ขณะนี้รัฐบาลเริ่มทยอยจ่ายเงินทดแทนเดือนละ 5,000 บาท รวม 3 เดือน แก่ประชาชน และจะขยายเวลาเป็น 6 เดือน จนมีคนกรอกข้อมูลลงคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่งย่อมมีคนกรอกข้อความเท็จ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ อีกทั้งเป็นการเอาเปรียบคนที่เดือดร้อนจริงๆ

       ++ ซึ่งผู้ที่กรอกข้อมูลเท็จ นอกจากจะเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) แล้ว ยังมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานประมวลกฎหมายตามอาญา มาตรา 137 ทั้งยังจะมีความผิดฐานฉ้อโกง เพราะมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริง มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 600,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนต้องสอบให้ได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดจนสิ้นกระแสความ แล้วรีบส่งสำนวนให้อัยการฟ้องคดีโดยเร็ว

       ++ ส่วน “สาว” นางหนึ่งที่เป็นข่าวเกรียวกราว เพราะเมื่อได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว ดันไป “โพสต์เฟซบุ๊ก” เย้ยหยัน ว่า “เงินเยียวยา 5,000 บาท เข้าบัญชีแล้ว แค่เศษเงินหลังตู้เย็น” จนตำรวจไปคุมตัวมาสอบสวนอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตนั้น หากผลสอบออกมาว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้ อาจเจอข้อหาให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือบิดเบือน มีสิทธิ์ถูกดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ...ต้องรอลุ้นว่า “เธอ” จะ “รอด” หรือต้องไปนอนในมุ้งสายบัว...