วสท.ระดมทีมวิศวกรอาสา เสริมสถานพยาบาลสู้โควิด

04 เม.ย. 2563 | 03:40 น.

ผ่ามุมคิด

จากสถานการณ์การระบาดไวรัสโคโรนาหรือ โควิด-19 กระทบในวงกว้าง ส่งผลให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. จัดตั้งศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 ขึ้น เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการอุปกรณ์หลายตัวที่เกี่ยวข้องกับด้านวิศวกรรม นำองค์ความรู้มาช่วยพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่แพทย์ต้องการนายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัยผู้อำนวยการ ศูนย์วิศวกรรมสนับสนุนต้านภัย COVID-19 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) และประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจว่าต้องชื่นชมหยาดเหงื่อของทีมวิศวกรอาสา วสท. คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่แท้จริง นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจาก วสท.ได้ร่วมหารือกับโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเพื่อขอทำห้องแยกผู้ป่วยติดเชื้อความดันลบ ซึ่งปัจจุบันกำลังขาดแคลน และสร้างไม่ทันต่อจำนวนผู้ป่วย สร้างเท่าไรก็ไม่พอ ส่งผลให้ นายธเนศ วีระศิริ นายก วสท. ได้ตั้งทีมขึ้นมาเพื่อหาวิธีที่จะสร้างห้องความดันลบ ซึ่งต่อมาเป็นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรกของ วสท. ใช้ชื่อว่าห้องแยกการติดเชื้อทางอากาศความดันลบหรือAirborne Infection Isolation Room” หรือ AIIR

 

วัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นห้องแยกความดันลบทั่วไป ที่สามารถให้คนนั่งได้ 3-4 คน หรือ 1 เตียงในสถานพยาบาล เคหสถาน และที่อื่น เพื่อใช้ในการป้องกันการติดเชื้อทางอากาศ ใช้เพื่อครอบเตียงผู้ป่วยที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หรือติดเชื้อทางอากาศ เป็นการลดระยะห่างความปลอดภัยระหว่างเตียงผู้ป่วย และอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์ในการเข้าตรวจผู้ป่วย โดยไม่จำเป็นต้องใส่ชุดป้องกัน

 

นอกจากนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนที่มาใช้บริการในโรงพยาบาลได้ด้วย สิ่งประดิษฐ์นี้ยังสามารถใช้งานได้ทั้งภายในอาคารและในที่ร่มภายนอกอาคาร เช่น ตามทางเดินในอาคารก็ทำได้

 

ข้อดีอีกประการของแนวคิดนี้ คือได้สนับสนุนการใช้วัสดุภายในประเทศ เพราะวัสดุที่เลือกใช้ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยในการใช้งาน ดูแลบำรุงรักษา และทำความสะอาดห้องได้โดยง่าย เมื่อสำเร็จแล้วนำมาเป็นมาตรฐานกลางให้กับหน่วยงานราชการนำไปใช้ในการจัดซื้อได้

 

ดังนั้นเกณฑ์ที่ใช้ในการออกแบบ และคำนวณด้านเครื่องกล คือ ห้องจะมีความกว้าง 1.30 เมตร ยาว 2.60 เมตร สูง 2.20 เมตร เพียงพอที่จะใส่เตียงคนไข้ ความกว้างประมาณ 0.60 เมตร ยาว 1.90 เมตร เป็นต้น

 

บุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย

 

ทั้งนี้ก่อนที่จะนำผลงานไปใช้นั้น ต้องมีการทดสอบโดยผลการทดสอบสมรรถนะ คือ ความแตกต่างของอุณหภูมิของอากาศภายในและภายนอกห้อง ก่อนเปิดและปิดพัดลม บวกลบไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ผ่านการทดสอบโดยวัดอุณหภูมิภายนอกและภายในห้องวัดได้ 32.4-32.5 องศาเซลเซียสใกล้เคียงกัน การตรวจวัดการรั่วของอากาศที่รอยต่อผนังห้องโดยใช้ควันธูป ซึ่งค่าความเร็วลมอ่านได้ศูนย์ และควันธูปไม่ไหลเข้าห้อง

 

การตรวจวัดอัตราการไหลของอากาศเพื่อระบายอากาศภายในห้องไม่น้อยกว่า 12 ACH ผ่านการทดสอบคืออ่านค่าได้ 147.02 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เท่ากับ 19 ACH การตรวจสอบความดันลบของห้องไม่น้อยกว่า 2.50 ปาสกัล (Pa) ผ่านการทดสอบโดยอ่านค่าความดันลบภายในห้องได้ 8 - 12 Pa โดยใช้งบประมาณ 8,000 บาทต่อคนต่อเตียง

 

วสท. ทำการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์แบบต่างๆ เพื่อสนองตอบความต้องการของสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด

วสท.ระดมทีมวิศวกรอาสา เสริมสถานพยาบาลสู้โควิด

เมื่อต้นแบบสำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา นายก วสท. นำทีมวิศวกรอาสา นำห้องต้นแบบความดันลบไปติดตั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อรับฟังความเห็น และข้อแนะนำในการใช้งานจากบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งนายแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ ซึ่งคำแนะนำคือ ขอห้องใหญ่ขึ้น และเพิ่มพื้นที่ก่อนการเข้า และออกจากตรวจผู้ป่วย (ANTE) ทำให้ตู้ต้นแบบที่พัฒนาครั้งที่ 2 ที่ วสท. ปรับปรุงให้มีสวิตช์เปิดปิดพัดลมแบบมีแสง เพื่อแสดงสถานะความดันลบ ซิปเปิด-ปิดประตู และเต้ารับไฟฟ้า แล้วก็เริ่มการพัฒนาครั้งที่ 3 ด้วยการขยายห้อง และเพิ่มพื้นที่ ซึ่งพิสูจน์วัตถุประสงค์ในเรื่องตู้ต้นแบบยืดหยุ่น และสามารถขยายพื้นที่ได้ เพิ่มพื้นที่ได้จริง ตอนนี้ตู้พัฒนาครั้งที่ 3 การขยายห้อง และเพิ่มพื้นที่เสร็จแล้ว เตรียมการติดตั้งพัดลม และระบบไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ภารกิจต่อไปคือการออกแบบ และสร้างอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นที่ 2 คือถุงครอบศีรษะของบุคลากรทางการแพทย์แบบความดันบวกเพื่อเป็นการป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องใกล้ชิดผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นคนเข็นเตียง พยาบาล จนถึงแพทย์ คาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า โดยจะทำเป็นที่ครอบศีรษะลงมาคลุมถึงคอปิดมิดชิดมียางยืดและใช้พัดลมเป็นตัวช่วยระบายอากาศ ซึ่ง 1 ชิ้นจะใช้ในระยะเวลา 8 ชั่วโมง ข้อดีคือปิดมิให้เชื้อโรคเข้าได้เลย เป็นการลดข้อเสียของหน้ากากที่ใช้อยู่ปัจจุบันที่ด้านข้างเปิดโล่ง เชื้อโรคอาจเข้าด้านข้างได้ ซึ่งรูปแบบเสร็จแล้วอยู่ระหว่างการศึกษาวัสดุที่นำมาผลิต การจัดเก็บและวิธีการทำลาย ราคาชิ้นละประมาณ 500-600 บาท

 

วสท.ระดมทีมวิศวกรอาสา เสริมสถานพยาบาลสู้โควิด

และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชิ้นที่ 3 เป็นเตียงคนไข้โปร่งใสครอบเตียงความดันลบ พร้อมอุปกรณ์บำบัดอากาศเพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างทาง และขยายผลถึงรถเข็นคนไข้ ช่วยลำเลียงผู้ป่วยจากรถ จากอาคารหรือเคลื่อนย้ายไปสู่สถานที่อื่นๆ โดยแนวคิดเดียวกับฝาชีที่ใช้ครอบ ต้องมีความโปร่งแสงโดยใช้ท่อพีวีซีหรืออื่นๆ ที่มีนํ้าหนักเบา แต่จากการทดสอบท่อพีวีซีดีที่สุดปลอดเชื้อมากที่สุด และพลาสติกเป็นตัวคลุม และใช้พัดลมระบายอากาศและที่เพิ่มและอยู่ระหว่างการศึกษาว่า จะใช้สิ่งใดคือหลอดฆ่าเชื้อแบบรังสีเหนือม่วง หรือ Ultraviolet ใช้งบรวมประมาณ 8,000-10,000 บาท หรือจะใช้แผ่นกรอง HEPA แผ่นกรองอนุภาคละเอียดมาก ใช้แล้วทิ้ง งบประมาณ 7,000 บาท คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้

 

ตราบใดที่เชื้อโรคยังไม่หยุด พวกเราจะทำงานและก็จะทำจนสุดความสามารถ ถึงแม้จะเป็นวันหยุดของร้านขายวัสดุก่อสร้างหลายแห่งก็ตาม แต่เพื่อให้คนไทยสามารถกลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติโดยเร็ว เรื่องแค่นี้ไม่เหนือบ่ากว่าแรงนายบุญพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563