เอกชน100 รายแห่ชิง ‘โรงไฟฟ้าชุมชน’เปิดรับซื้อเม.ย.

15 มี.ค. 2563 | 09:15 น.

คาดเอกชนกว่า 100 ราย แห่ชิงตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน 100 เมกะวัตต์ หลังกระทรวงพลังงาน เปิดยื่นรับซื้อไฟฟ้าสิ้นมีนาคมนี้ เผยเกณฑ์ให้คะแนนสุดหิน 60% ต้องเสนอผลประโยชน์ให้ชุมชนสูงสุดใน 7 ข้อ พร้อมขยายจ่ายไฟฟ้าบางรายเข้าระบบเป็นปี 2564 ติดโควิด-19 ส่งเครื่องจักรไม่ได้

 

 

เป็นรูปเป็นร่างแล้วสำหรับการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หลังจากที่กระทรวงพลังงาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในส่วนของ Quick win ที่จะเปิดรับซื้อและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ 100 เมกะวัตต์ ในปี 2563 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมรับฟังกว่า 100 ราย ซึ่งเงื่อนไขการพิจารณาการคัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างหินพอสมควร ทั้งด้านคุณสมบัติ 10 ข้อ และด้านเทคนิค 19 ข้อ หากตกข้อใดข้อหนึ่งจะไม่ได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะการประเมินข้อเสนอขอขายไฟฟ้าด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน ที่นำมาพิจารณาการให้คะแนนไว้สูงถึง 60% และด้านเทคนิคเพียง 40%

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนด้านผลประโยชน์คืนสู่ชุมชน จะประกอบไปด้วย 7 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.อัตราส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ ประกอบด้วย อัตราส่วนแบ่งรายได้ ไม่ต่ำกว่า 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิง ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (นํ้าเสีย/ของเสีย) และก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน) และอัตราส่วนแบ่งรายได้ไม่ต่ำกว่า 0.50 บาทต่อหน่วย สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เป็น Hybrid เข้ามา

การเสนอเงินพิเศษค่าเชื้อเพลิง ไว้ในสัญญารับซื้อเชื้อเพลิงในราคาประกันในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) การให้สัดส่วนหุ้นบุริมสิทธิแก่วิสาหกิจชุมชน ไม่น้อยกว่า 10% การรับประกันอัตราเงินปันผลประจำปีให้แก่วิสาหกิจชุมชน จะต้องเสนอรายละเอียดการจ้างแรงงานภายในพื้นที่จังหวัดที่ตั้งโรงไฟฟ้า โดยจะต้องระบุจำนวนและอัตราเงินเดือนที่แน่นอนไว้ด้วย รวมถึงผลประโยชน์ หรือโครงการพัฒนาชุมชนด้านอื่นๆ ที่จะเข้าไปมีส่วนยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้นจากเดิม และต่อยอดให้เกิดความยั่งยืนในด้านต่างๆ ได้อย่างไร

โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทชีวมวล ที่ใช้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ใบอ้อยสด ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้า จะต้องบรรยายให้เห็นภาพว่า การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจะช่วยลดการเผากลางแจ้ง ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้อย่างไร สร้างรายได้จากการขายวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไร เป็นต้น

ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณานั้น หากพื้นที่ใดเสนอเข้ามาหลายราย จะพิจารณาให้เอกชนที่ได้คะแนนสูงสุดก่อน

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า หลังเปิดรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Quick Win เรียบร้อยแล้ว ทาง กกพ. จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์สัญญารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ จากนั้นจะเสนอต่อบอร์ด กกพ.พิจารณา และจะเปิดรับข้อเสนอซื้อไฟฟ้าชุมชนในโครงการ Quick Win ราวต้นเดือนเมษายนนี้

เอกชน100 รายแห่ชิง  ‘โรงไฟฟ้าชุมชน’เปิดรับซื้อเม.ย.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการรับฟังความเห็นโรงไฟฟ้าชุมชน ประเภท Quick Win จากเอกชนแล้ว อาจจะต้องเลื่อนการจ่ายไฟฟ้าบางโครงการออกไปจากเดิมปี 2563 เป็นปี 2564 แทน เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าได้

ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป จำนวน 600 เมกะวัตต์ ยังไม่สามารถเปิดทำประชาพิจารณ์ ที่จะต้องเชิญชวนประชาชน
มาร่วมประชุมจำนวนมากได้ อาจจะต้องเลื่อนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าออกไปเป็นปี 2564 แทน

ส่วนโรงไฟฟ้านำร่องทั้ง 4 แห่ง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะยังกำหนดจ่ายไฟฟ้าในปี 2563 เพื่อเป็นต้นแบบให้โรงไฟฟ้า Quick Win และโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานด้านพลังงานก๊าซชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักเกณฑ์การตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนที่ออกมา ยังติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งการกำหนดใบอนุญาตตั้งโรงงาน ผังเมือง ซึ่งจะทำให้หลายโครงการไม่สามารถยื่นข้อเสนอได้ตามเป้าหมายที่ 100 ได้ ซึ่งภาครัฐควรมีความยืดหยุ่นในเรื่อง
ดังกล่าว เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้ ซึ่งเชื่อว่าคณะทำงานคงรู้แล้วว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ที่จะนำไปปรับปรุงแล้ว

หน้า 11 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,557 วันที่ 15 - 18 มีนาคม พ.ศ. 2563