เมื่อมังกรวัดรอยเท้าพญาอินทรีย์ในสงครามเย็นยุคดิจิทัล (1)

14 มี.ค. 2563 | 02:00 น.

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงไม่นาน โลกก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ “พญาอินทรีย์” ผู้นำค่ายประชาธิปไตย กับสหภาพโซเวียต “หมีขาว” หัวขบวนค่ายสังคมนิยม เชือดเฉือนกันยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ สงครามเย็นยุติลงไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปลายทศวรรษ 1980

หลังจากนั้น โลกก็เดินหน้าเข้าสู่ยุคสมัยของการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีนในปี 2001 เป็นเสมือนการร่ายมนต์ปลุกจีน “มังกร” ที่หลับไหลให้ฟื้นคืนชีพ

ครั้นเมื่อมังกรแข็งแกร่งและติดตั้งด้วยระบบดิจิทัลก็ทรงพลานุภาพยิ่งขึ้น และก้าวขึ้นมาเป็นคู่ต่อกรใหม่กับพญาอินทรีย์ จนหลายคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่สงครามเย็นยุคใหม่

 

สงครามเย็น vs สงครามเย็นยุคใหม่

ความเหมือน-ความแตกต่าง

สงครามเย็นใน 2 ยุคเปลี่ยนหน้าตาของคู่ต่อกรและปัจจัยพื้นฐานไปอย่างมาก ความขัดแย้งระหว่างหมีขาวและพญาอินทรีย์ในสงครามเย็นยุคแรก ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแตกต่างอย่างสุดขั้วของปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ และระบอบการปกครองเป็นสำคัญ

ความขัดแย้งทางการทหารสะท้อนผ่านการแบ่งขั้วทางการเมือง การสะสมอาวุธนิวเคลียร์ และการพัฒนาสู่อวกาศ รวมทั้งการแบ่งแยกดินแดนในยุโรปและแห่งอื่นออกเป็น 2 ขั้วอย่างเห็นได้ชัด

แต่สงครามเย็นยุคดิจิทัลมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะคู่ต่อกรใหม่อย่างมังกรและพญาอินทรีย์มีระดับความคล้ายคลึงของปัจจัยทางการเมืองอยู่มาก แม้ว่ากรณีพิพาทหมู่เกาะทะเลจีนใต้อาจแสดงถึงความขัดแย้งผ่านสงครามตัวแทนได้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับภาพความขัดแย้งในอดีตที่มีลักษณะ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน”

นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมืองยังมีความแตกต่างและอิทธิพลที่น้อยลง จีนและสหรัฐฯ ต่างเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ และมีความสัมพันธ์แบบ “ถ้อยที ถ้อยอาศัย” จีนปรับเปลี่ยนสู่ระบอบสังคมนิยมยุคใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ทำให้การแบ่งขั้วทางการเมืองเปลี่ยนไปสู่มิติทางเศรษฐกิจ

ในเชิงเศรษฐกิจ จีนและสหรัฐฯ ต่างยึดหลักการของระบอบทุนนิยม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและลดบทบาทของรัฐวิสาหกิจต่อเศรษฐกิจโดยรวมลงเป็นอันมาก

สหรัฐฯ และจีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ 2 อันดับแรกของโลก และมีแนวโน้มของช่องว่างที่ห่างกันน้อยลงโดยลำดับ ทั้ง 2 ประเทศยังร่วมเป็นสมาชิกในหลายกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ พญาอินทรีย์และมังกรก็ยังเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างกัน กล่าวคือ 2 ประเทศมีระดับการพึ่งพาทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันที่สูงมาก และเชื่อมโยงไปคาบเกี่ยวถึงเครือข่ายพันธมิตรของกันและกันมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้คู่ต่อกรใหม่นี้ต้องปรับมุมมองเป็นลักษณะ“ชนะ-ชนะ” มากกว่า “แพ้-ชนะ” ดังเช่นในยุคเดิม

โดยสรุป สงครามเย็นยุคแรกอยู่บนพื้นฐานของปัจจัยทางการเมือง การทหาร และการแย่งชิงทรัพยากรเป็นสำคัญ สงครามเย็นยุคใหม่กลับเกิดขึ้นบนพื้นฐานของความแตกต่างในเชิงโครงสร้าง และส่วนผสมของหลายปัจจัยที่คาบเกี่ยวกันอย่างสลับซับซ้อน

ประการสำคัญ ตามความเชื่อในปัจจุบันที่ว่า ผู้ครองโลกดิจิทัลคือผู้นำโลก ทำให้การเชือดเฉือนด้านเทคโนโลยีกลายเป็นตัวชูโรงใหม่ของความขัดแย้งยุคใหม่

 

เมื่อมังกรวัดรอยเท้าพญาอินทรีย์ในสงครามเย็นยุคดิจิทัล (1)

 

ก่อกำเนิดสงครามเย็นยุคใหม่

หลากชื่อ-หลายปัจจัย

สงครามเย็นยุคใหม่เกิดขึ้นเมื่อใดกัน บ้างก็อาจเห็นว่า การดำเนินนโยบาย Made in China 2025 ของจีนเมื่อปี 2015 เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นยุคใหม่ เพราะนโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่การยกระดับการพัฒนาระบบอินเตอร์เน็ต และโทรคมนาคมของจีน

หลังจากนั้น อุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้นโยบายดังกล่าวกลายเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของจีนมากขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้เศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของกิจการที่เกี่ยวข้องแดนมังกรเติบใหญ่อย่างมีเสถียรภาพในเวทีนานาชาติ จนทั่วโลกต่างตื่นตะลึง และพญาอินทรีย์ก็ต้องหันมาให้ความสนใจมากขึ้น

การประกาศนโยบายการต่างประเทศ “America First” ที่มองจีนในฐานะคู่แข่งที่ทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เมื่อครั้งโดนัลด์ ทรัมป์ สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรกเมื่อราวปี 2016 ก็เป็นอีกสัญญาณเตือนที่ถูกส่งออกมาในระยะแรก

 

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนถึงระดับเย็นยะเยือกที่มากขึ้นจนอาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นระหว่าง 2 ประเทศ เช่น สงครามตัวแทนผ่านกรณีพิพาทในหมู่เกาะทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี

หรือแม้กระทั่งการกล่าวปราศัย ณ สถาบันฮัดสัน (Hudson Institute) กรุงวอชิงตัน ดีซี ของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กล่าวหารัฐบาลจีนว่าพยายามทำทุกวิถีทางผ่านการใช้เครื่องมือทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อขยายอิทธิพลในสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2018 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนกำลังหยุดยาวฉลองวันชาติกัน

ประเด็นการแทรกแซงค่าเงินหยวนของรัฐบาลจีนว่าเป็นสาเหตุของปัญหาการขาดดุลการค้าจำนวนมหาศาลของสหรัฐฯ และการปล่อยให้มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนอาจเป็นเพียงเหตุผลเบื้องหน้าของการเปิดสงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีนในปี 2019 และสะท้อนภาพของสงครามเย็นยุคใหม่อย่างเป็นรูปธรรม

แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กลับวิเคราะห์ว่า การพุ่งทะยานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีนจนก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ เป็นเบื้องหลังที่นำไปสู่สงครามเย็นยุคใหม่ที่แท้จริง

โดยสรุป สงครามเย็นยุคใหม่เริ่มก่อตัวและปะทุขึ้นในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 โดยอาจเรียกผ่านหลายชื่อ อาทิ สงครามการค้า สงครามอัตราแลกเปลี่ยน สงครามดิจิทัล และสงครามเทคโนโลยี

 

คอลัมน์มังกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3557 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2563

เกี่ยวกับผู้เขียน: ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน