สตช.โชว์จับ73รายค้าหน้ากากอนามัยแพง-9รายกุเฟกนิวส์

11 มี.ค. 2563 | 09:45 น.

สตช.โชว์ผลงาน รวบ 73 ผู้ต้องหาค้าหน้ากากอนามัยเกินราคา 9 ผู้ต้องหา โพสต์เฟกนิวส์ ตั้งคณะทำงานรับมือภัยจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เผยแพร่ข้อมูลเชิงปัองกัน หลีกเลี่ยง 

 

วันนี้(11 มี.ค.63) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เผยแพร่ข้อมูลมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย โดยจับกุมผู้ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคาโดยผิดกฎหมาย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 70 ราย ผู้ต้องหา 73 คน ของกลางหน้ากากอนามัย จำนวน 104,271 ชิ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 1,290,997 บาท 

ในจำนวนนี้เป็นการจับกุมหน้าร้าน 61 ราย และจับกุมจากการขายสินค้าทางออนไลน์ 9 ราย ในความผิดฐาน “จำหน่ายหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นสินค้าควบคุมในราคาสูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้า” อันเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ที่โพสต์ส่งต่อข่าวปลอม หรือ Fake News สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนและสังคม จำนวน 6 คดี ผู้ต้องหารวม 9 คน ในความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จหรืออาจสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งมีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ลงนามในคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 119/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยมอบหมาย พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. เป็นประธานกรรมการ และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย พร้อมด้วย พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นรองประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ได้ร่วมกำหนดมาตรการที่สำคัญๆ เช่น 

 

1.เพิ่มความเข้มในการคัดกรองผู้เดินทางจากนอกราชอาณาจักรโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรค ในทุกช่องทาง เช่น สนามบินนานาชาติ และด่านชายแดนทั่วประเทศ

2.การเตรียมพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการรับตัวคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศ โดยได้เตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และบูรณาการร่วมกับหน่วยเกี่ยวข้องทุกหน่วย

3.พิจารณาเตรียมพร้อมด้านกำลังพล สถานที่ และการปฏิบัติการสนับสนุนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.การประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะติดโรค และป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี

 

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ว่า ขอให้ใช้ความระมัดระวังในการสั่งซื้อสินค้า ซึ่งอาจตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขาย ชื่อบัญชีและเลขบัญชีของผู้ขายถูกขึ้นบัญชีที่ต้องระมัดระวังหรือไม่ อย่าเห็นแก่สินค้าราคาถูกซึ่งอาจไม่ได้คุณภาพ อย่าสั่งซื้อสินค้าครั้งละปริมาณมากๆ และหากเป็นไปได้ ให้นัดรับสินค้าจากผู้ขายโดยตรง 


ในกรณีที่มีการซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้า ขอให้ผู้ซื้อเตรียมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อซื้อขาย เช่น ภาพเว็บไซต์ เพจ หรือหน้าที่ประกาศขายสินค้า ข้อความสนทนาระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย รายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ขาย เช่นชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล์ เลขบัญชีธนาคารของผู้ขาย และหลักฐานการโอนเงินชำระค่าสินค้า และนำหลักฐานดังกล่าวเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน


 พล.ต.ท.ปิยะ ฝากเตือนไปยังผู้ประกอบการ กรณีการกักตุน จำหน่ายสินค้าเกินราคา ฉ้อโกง จะต้องถูกดำเนินคดี ทั้งข้อหา 1.กักตุนสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 30 ประกอบมาตรา 41 โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.จำหน่ายสินค้าและบริการที่ควบคุมเกินราคา เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 39 ประกอบมาตรา 26 วรรคสอง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3.จำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

4.การหลอกลวงขายสินค้าซึ่งไม่มีอยู่จริงให้แก่ประชาชน เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามมาตรา 341 ประมวลกฎหมายอาญา โทษจําคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ หากเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามมาตรา 343 โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี


กรณีโพสต์หรือส่งต่อข่าวปลอม หรือ Fake News จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหา 1.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จฯ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


2.เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(5) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 


ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวต่างๆ สามารถแจ้งมายัง สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือ หมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 191,1599 สายด่วน สคบ. หมายเลข 1166 และกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หมายเลข 021422555 หรือผ่านทาง แอปพลิเคชั่น Police I lert U ได้ตลอด 24 ชั่วโมง