เร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม กระตุ้นลงทุน สร้างรายได้ประเทศ

14 มี.ค. 2563 | 06:20 น.

ถือเป็นการเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอีกครั้ง เมื่อราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 2 มีนาคม 2563 ได้ประกาศ การกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย เพื่อให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 จำนวน 3 แปลง รวมพื้นที่ 34,873 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย แปลง G1/63 มีขนาดพื้นที่ 8,197 ตารางกิโลเมตร แปลง G2/63 มีขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร และแปลง G3/63 มีขนาดพื้นที่ 11,646 ตารางกิโลเมตร ซึ่งว่างเว้นการดำเนินงานมาร่วม 13 ปี ที่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้จากปัญหาการต่อต้านที่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบระบบสัมปทาน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซีแทน

 

ปิโตรเลียมเหลือใช้ไม่ถึง 10 ปี

ตลอดระยะเวลาที่ว่างเว้นมา ส่งผลให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีการค้นพบปริมาณสำรองเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติปี 2561 พบว่า มีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ที่พิสูจน์แล้วเพียง 6.06 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต นํ้ามันดิบ 136.88 ล้านบาร์เรล และคอนเดนเสท 155.72 ล้านบาร์เรล ประเมินกันว่าหากไม่มีการสำรวจเพิ่มเติม ปริมาณปิโตรเลียมดังกล่าวจะหมดลงในไม่เกิน 10 ปี ส่งผลให้ต้องพึ่งการนำเข้าก๊าซฯในรูปแอลเอ็นจีและนํ้ามันดิบจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ที่จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในเดือนมีนาคมนี้ จะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีถึง 25 ล้านตันต่อปี เมื่อสิ้นสุดแผนปี 2580

เร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม กระตุ้นลงทุน สร้างรายได้ประเทศ

เร่งเชิญชวนสำรวจเม.ย.นี้

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 23 เป็นความจำเป็นของประเทศในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่จะมาช่วยรักษาระดับปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไม่ให้ลดลง หลังจากปี 2565-2566 ที่ระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจากแหล่งบงกชและเอราวัณจะลดลงมาอยู่ระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบันผลิตที่ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ในการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 23 นี้ จะดำเนินการภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือพีเอสซี โดยจะประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจให้มายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในเดือนเมษายน 2563 นี้ จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การเปิดให้เอกชนเข้ามาศึกษาข้อมูลไปจนถึงประกาศผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะมีการลงนามกับผู้ชนะการประมูลประมาณต้นปี 2564

สร้างรายได้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง

ทั้งนี้ หากการดำเนินงานประสบความสำเร็จ จะก่อให้เกิดการลงทุนในการสำรวจขั้นตํ่ากว่า 1,500 ล้านบาท และหากมีการสำรวจพบปิโตรเลียม จะต่อยอดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท และประโยชน์ที่ตามมานั้นไม่ใช่แค่ความมั่นคงด้านพลังงาน แต่จะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นของภาคการลงทุน การสร้างรายได้ให้กับประเทศ ในรูปของค่าภาคหลวงและภาษีโดยรวมปีละกว่า 1 แสนล้านบาท สร้างงาน สร้างอาชีพที่มั่นคงให้คนไทย ตลอดจนขับเคลื่อนการเจริญเติบโตให้กับธุรกิจต่อเนื่องอื่นๆ อาทิ ธุรกิจเกี่ยวกับการสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม ร้านอาหาร โรงแรม และภาคขนส่ง ในพื้นที่ที่มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกด้วย ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงานจะยังคงหารือกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อเร่งเดินหน้าการร่วมพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่องกับทั้ง 2 ประเทศในระยะยาว

นายสมบูรณ์ วัชระชัยสุรพล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่ 3 แปลง เบื้องต้น คาดว่าจะพบปิโตรเลียมไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาร์เรลเทียบเท่านํ้ามันดิบ เนื่องจากพื้นที่ทั้งหมดอยู่ใกล้กับแหล่งเอราวัณและบงกชที่มีการผลิตปิโตรเลียมอยู่แล้ว ทำให้มีโอกาสขุดพบปริมาณปิโตรเลียมจำนวนมากได้

ธุรกิจปิโตรเลียมสร้างจีดีพี 3%

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มีสัดส่วนต่อจีดีพีของประเทศถึง 3% ในส่วนนี้เป็นของเชฟรอนถึง 1.9% ในแต่ละปีมีการลงทุนเป็นหลักหมื่นล้านบาท สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยและประเทศชาติสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ก่อเกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างอาชีพ ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมาเชฟรอนได้จ่ายค่าภาคหลวงไปแล้วราว 5 แสนล้านบาท

ปัจจุบันการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งเอราวัณ ในเดือนมกราคม 2563 ผลิตก๊าซเฉลี่ยอยู่ที่ 1,257 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คอนเดนเสต 44,519 บาร์เรลต่อวัน และนํ้ามันดิบ 27,324 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 ขณะนี้อยู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านให้กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ชนะการประมูล

ทั้งนี้ เชฟรอนได้ทำงานร่วมกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้ดำเนินการรายใหม่ ในกระบวนการส่งมอบแหล่งเอราวัณ อย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีความคืบหน้าสำคัญ เช่น การลงนามข้อตกลงเข้าพื้นที่ ส่งผลให้ปตท.สผ. สามารถเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินงานได้แล้ว นอกจากนั้นทั้ง 2 บริษัทยังมีการหารือเกี่ยวกับการรับบุคลากรของเชฟรอน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจสภาพทางธรณีวิทยา และมีประสบการณ์ตรงในการดำเนินงานสำรวจและผลิตพลังงานในแหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตปิโตรเลียมคงความต่อเนื่องไม่สะดุดในการดำเนินงาน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

เร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียม กระตุ้นลงทุน สร้างรายได้ประเทศ