พลังหญิงไทย พลิกนวัตกรรม เปลี่ยนประเทศ

14 มี.ค. 2563 | 09:30 น.

 

อนาคตผู้หญิงมี แนวโน้มที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำหรือผู้บริหารด้านธุรกิจเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง จะเห็นได้จากปัจจุบันผู้หญิงที่เริ่มเข้ามาทำงานในสายงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น เห็นได้ตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัยที่ผู้หญิงเริ่มเข้าเรียนและจบการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยี รวมถึงการผันตัวเป็นสตาร์ตอัพหรือผู้ประกอบการในองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้นในหน่วยงานต่างๆ ทำให้เห็นว่าผู้หญิงไม่ได้ถูกจำกัดในการเป็นผู้นำขององค์กรเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่าตลอดระยะเวลาในการทำงานที่ผ่านมาทำให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความสามารถมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ การเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอย่างเรื่อง สุขภาพความงาม ครอบครัว และสิ่งแวดล้อมที่ผู้หญิงให้ความสำคัญ สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมานั้น สัดส่วนการขอรับการสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมของผู้หญิงเริ่ม มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลสำรวจโดยสมาคมไทยผู้ประกอบการธุรกิจเงินร่วมทุน (Thai Venture Capital Association : TVCA) พบว่ามีผู้ประกอบการและสตาร์ตอัพที่เป็นผู้หญิงประมาณ 17% ทั้งนี้จะเห็นว่าผู้หญิงสามารถสร้างความแตกต่างให้กับสังคมได้ ผู้หญิงจะเป็นเสียงสะท้อนที่ได้รับการยอมรับในมุมมองธุรกิจได้มากกว่า จากข้อดีหรือจุดเด่นที่ผู้ชายไม่มีคือ ความละเอียด รอบคอบ มองเห็นและคาดเดาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้มากกว่า มีความตระหนกต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้น่าจะมีอัตราการเอาชีวิตรอดได้มากกว่า

 

พลังหญิงไทย  พลิกนวัตกรรม  เปลี่ยนประเทศ


 

ด้านนางธีรีสา มัทวพันธุ์ รองผู้อำนวยการด้านยุทธศาสตร์องค์กร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ความท้าทายของผู้หญิงที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ในองค์กรต่างๆ เนื่องจากประวัติศาสตร์บอกว่าผู้ชายคือผู้นำ ดังนั้นผู้หญิงต้องพิสูจน์ตัวเองในเรื่องของความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ มีความกล้าในการตัดสินใจ ทำงานได้เหมือนผู้ชาย ขณะที่ผู้หญิงมีความอ่อนโยนและความเข้าใจ ซึ่งผู้หญิงแบบที่องค์กรต้องการคือ ต้องมีองค์ความรู้ มีทัศนคติที่ดี มีการสื่อสารที่ดี รวมทั้งเป็นคนที่เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ และยังต้องมีความคล่องแคล่ว กระตือรือร้นที่จะหาความรู้ รวมไปถึงจะต้องเป็นผู้ที่สามารถมองเห็นอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเวลาที่เกิดปัญหาจะต้องสามารถแก้ไขได้ทันที นอกจากนี้ภาษาถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเป็นทักษะที่ผู้นำต้องมี รวมถึงมีภาวะผู้นำมากพอในการที่จะเข้าใจและชักนำผู้อื่นอย่างมีเหตุผล มีความคิดบวก คิดนอกกรอบ คิดสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรมองหา

 

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของการที่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานในแวดวงนวัตกรรมเทคโนโลยีสตาร์ตอัพ เนื่องจากผู้หญิงค่อนข้างมีพื้นฐานเรื่องการเข้าสังคมมากกว่าผู้ชาย มีการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ได้ค่อนข้างสูง รวมไปถึงการแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับองค์กร ที่ผู้หญิงมักจะมีสติและมีแนวโน้มที่จะสามารถรับมือได้ดีกว่าผู้ชาย จึงทำให้ส่วนใหญ่การจัดการปัญหามักมีความยืดหยุ่นสามารถลดสภาวะความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมงานได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้หญิงจะมีข้อดีดังกล่าว แต่การทำงานในแต่ละองค์กรก็ยังจำเป็นจะต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายอย่างละเท่าๆ กัน ขณะที่เรื่องของความอคติทางเพศ ในประเทศ ไทยนั้นอาจมีความเหลื่อมลํ้าทางเพศอยู่ แต่ในมุมบวกประเทศไทยเปิดกว้างมานานแล้ว แต่ยังมี คนกลุ่มน้อยที่ไม่เห็นด้วยกับคนต่างเพศ แต่ก็จะค่อยๆ ลดลง ในภาพรวมประเทศไทย ถือว่าเปิดกว้างเมื่อเทียบกับในประเทศที่ยังมีการปิดกั้น

 

หน้า 26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12-14 มีนาคม 2563