ตีกลับแผนฟื้นฟู- โคโรนา‘บินไทย’หลังข้อมูลไม่ชัดเจน

05 มี.ค. 2563 | 08:41 น.

‘ศักดิ์สยาม’ สั่งตีกลับแผนฟื้นฟูองค์กร-มาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 หลังรายละเอียดไม่ชัดเจน พร้อมยื่นขอเสนอวอนภาครัฐค้ำประกันเงินกู้ หวังเสริมสภาพคล่อง เร่งเจรจาภายใน 1 สัปดาห์ 

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะที่ผู้บริหารการบินไทย ประกอบไปด้วย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) และนางชาริตา ลีลายุทธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด 

ภายหลังการหารือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด พร้อมด้วยนางชาริตา ออกจากห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด และมีการหารือภายนอกถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่าผลกระทบจากโรคโควิด -19 จะส่งผลลบต่อการบินไทยจนถึงเดือน พ.ค.นี้ ดังนั้นควรจะต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน ขณะที่นายสุเมธ ยังหารือภายในห้องร่วมกับนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ก่อนจะออกมาปฏิเสธการให้สัมภาษณ์

นายศักดิ์สยาม    ชิดชอบ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือกับผู้บริหารบริษัทการบินไทย  จำกัด ว่า สายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ได้เข้าพบหารือมาตรการบรรเทาผลกระทบเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้นการบินไทยได้ยื่นข้อเสนอมาตรการมากกว่าสายการบินอื่นๆ  เนื่องจากเป็นสายการบินที่มีคู่ค้าจำนวนมาก โยภาครัฐช่วยค้ำประกันเงินกู้เสริมสภาพคล่อง   ซึ่งต้องการโดยเร็วที่สุด เนื่องจากรายรับการบินไทยน้อยกว่าประมาณการรายได้ โดยปัจจุบันการบินไทยยังมีสภาพคล่องเพียงพอสามารถอยู่ได้หลายเดือน ขณะที่ตัวเลขปลายปีติดลบ

สำหรับข้อมูลที่การบินไทยเสนอมาในวันนี้เป็นมาตรการขอความช่วยเหลือในภาพรวมทั้งแผนฟื้นฟูองค์กรและผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะที่ตัวเลขและข้อมูลยังไม่มีรายละเอียดชัดเจน อย่างต้นทุนการบินไทยอยู่ที่ 13,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมีต้นทุนเท่ากันคงที่   ทั้งที่มีการหยุดบินบางเส้นทาง รวมทั้งต้องดูการดำเนินงานว่าบริษัทสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 100% หรือไม่   เนื่องจากแผนที่เสนอมานั้นแตกต่างจาก 17 สายการบินที่เสนอมา หากได้รับการช่วยเหลือสามารถฟื้นฟูได้ 1ปี 6 เดือน  ทั้งนี้หากมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจไม่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบ

นายศักดิ์สยาม  กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันทางกระทรวงได้สั่งการให้การบินไทยกลับไปศึกษารายละเอียดแผนฟื้นฟูภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ โดยมอบหมายให้นายชัยวัฒน์  ทองคำคูณ  ปลัดกระทรวงคมนาคม นายพีระพล  ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม  และนายชยธรรม์  พรหมศร  ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปหารือกับบริษัทการบินไทยและสรุปมาตรการบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้ชัดเจน 

“ส่วนการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐนั้น เรามองว่ารายละเอียดยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการใช้จ่ายอะไรบ้าง วงเงินเท่าไร ซึ่งทุกไฟลท์ที่บินยังได้กำไรจากผลดำเนินงาน ซึ่งต้องแยกรายละเอียดออกจากกัน เชื่อว่ามาตรการโควิด-19 จะทำให้การบินไทยกลับมาแข่งขันเรื่องการบินระหว่างประเทศได้  ทั้งนี้มาตรการช่วยเหลือ 17 สายการบินจากปัญหาไวรัสโควิด-19 จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 6 มี.ค.นี้  โดยการบินไทยจะได้รับสิทธิ์การช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าวทั้ง 17 สายการบินด้วย  ตามกฎหมายขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ถึงแม้ว่าการบินไทยไม่ได้ยื่นข้อเสนอมาตรการดังกล่าวก็ตาม”