“พุทธศาสนา"สอนให้เราเป็นคนรวย

04 มี.ค. 2563 | 23:00 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

คอลัมน์ทำมา..ธรรมะ โดย ราช รามัญ

ใครก็ตามที่มีความคิดเชื่อว่า พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนจน อันนี้เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ถ้าอุบาสก อุบาสิกา มีแต่ความยากจนแล้วใครจะดูแลอุปถัมภ์พระสงฆ์องค์เณรและวัดวาอาราม พระองค์เคยตรัสว่า
“ความจนเป็นทุกข์อย่างยิ่ง” 

เพียงแค่นี้ก็น่าจะสื่อได้ว่าพุทธศาสนาของตถาคตไม่ได้สอนให้คนในศาสนานั้นเป็นคนจน ตลอดทั้งยังสอนเรื่องอานิสงส์ของการถวายทานเพื่อเป็นทานบารมีมากมาย อาทิ ผู้ใดสร้างทานมากจะเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวย
ถ้าเราสังเกตในคำสอนเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาสำหรับสอนญาติโยมธรรมะข้อแรกสุดที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเสมอ คือ บุญกริยาวัตถุ เริ่มจาก ทาน ศีล ภาวนา หมายความว่าเราต้องรู้จักให้ทาน หรือ ทานัง คือ การให้ การให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนแล้วผลตอบแทนจะกลับมาเกินร้อยแต่ถ้าให้แล้วหวังผลตอบแทนผลนั้นอาจจะน้อยลง 
ยิ่งให้ยิ่งได้...จึงเป็นคำที่ชาวพุทธเชื่ออย่างสนิทใจ เมื่อให้ทานมากๆย่อมจะได้อานิสงส์อย่างมาก เมื่อเราร่ำรวยชีวิตความเป็นอยู่ก็สะดวกสบายมากขึ้น 
บางคนอาจมองว่ามันจะขัดกับคำสอนที่เรียกว่า ความโลภ ถ้าเราอยากรวย อันนี้ก็เข้าใจผิด การที่เราทำงานมากรับหลายงานที่เป็นงานสุจริตถ้าเราทำได้และไม่ทำให้เราเป็นทุกข์ ก็ไม่ใช่ความโลภ เพราะคำว่า โลภ แปลว่า อยากได้ของผู้อื่นเขา ที่เราไม่ได้ทำเอง 
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓

ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรคในโภควิภาคสี่ พระพุทธองค์ตรัสสอนว่าควรแบ่งรายได้ออกเป็น 4 ส่วน  โดยส่วนแรกนั้นเพื่อใช้สำหรับดูแลตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่2 และ 3 เอาไว้เพื่อการลงทุนการงาน และส่วนที่ 4 เก็บเอาไว้ใช้ในคราวจำเป็น ( เจ็บไข้ได้ป่วย หรือ เกี่ยวกับการฉุกเฉินต่างๆ)
จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ทรงย้ำเน้นในเรื่องของการลงทุน หรือว่าเรื่องของการทำมาหากินต่างๆ นั้นเอง รายได้ที่แบ่งออก 4 ส่วน เท่ากับส่วนละ 25% แต่ในส่วนของการลงทุนนั้น ท่านให้เอาลงทุนถึง 50% นั้นเท่ากับว่าท่านส่งเสริมเรื่องทำมาหากินให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย มิใช่ให้อยู่กับความจน

ถ้าใครคิดว่านับถือพุทธศาสนาแล้วต้องเป็นคนจน คงจะต้องคิดใหม่