ยอดใช้บี10พุ่งต่อเนื่อง สวนทางLPG-NGVร่วง

02 มี.ค. 2563 | 05:00 น.

นโยบายส่งเสริมใช้ดีเซลบี 10 และบี 20ได้ผล ยอดการใช้รวมม.ค. 63 พุ่ง 304.7 ล้านลิตร หรือราว 10 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่ไวรัสโควิด-19 ฉุดยอดการผลิตน้ำมันเครื่องบินลดลง ราคาน้ำมันถูกฉุดยอดการใช้แอลพีจีและเอ็นจีวีร่วง

มีรายงานจากกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน เปิดถึงสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในเดือนมกราคม 2563 ว่า นโยบายส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล โดยประกาศให้ดีเซลบี 10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา และดีเซลบี 20 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ส่งผลให้ยอดการใช้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้จากยอดการใช้เดือนมกราคม 2563 การใช้ดีเซลบี 10 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 71.4 ล้านลิตรต่อเดือนหรือราว 2.3 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซลบี 20 ยอดใช้อยู่ที่ 233.3 ล้านลิตรต่อเดือน หรือราว 7.5 ล้านลิตรต่อวัน

ส่วนดีเซลบี 7 มียอดใช้อยู่ที่ 1,616.8 ล้านลิตรต่อเดือนหรือราว 52.2 ล้านลิตรต่อวัน และเมื่อรวมยอดการใช้ดีเซลชนิดพิเศษอีก 66.6 ล้านลิตรต่อเดือนหรือราว 2.1 ล้านลิตรต่อวัน ส่งผลให้เดือนมกราคมมียอดการใช้ดีเซลรวมทั้งสิ้น 1,988.1 ล้านลิตรต่อเดือน หรือราว 64.1 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 ที่มียอดการใช้ดีเซลรวม 2,044.2 ล้านลิตร หรือราว 65.9 ล้านลิตรต่อวัน

ยอดใช้บี10พุ่งต่อเนื่อง สวนทางLPG-NGVร่วง

ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ปรับส่วนต่างน้ำมันดีเซลบี 7 กับดีเซลบี 10 เป็น 3 บาทต่อลิตร จากเดิม 2 บาท ต่อลิตร เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คาดว่จะทำให้ยอดการใช้น้ำมันดีเซลบี 10 ปรับตัวสูงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

ส่วนกรณีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มส่งผลให้เห็นการผลิตน้ำมันอากาศยานหรือเจต เอ 1 ในเดือนมกราคม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 705.3 ล้านลิตร เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 ผลิตอยู่ที่ 752.8 ล้านลิตร แต่เนื่องจากเป็นช่วงรอยต่อของเทศกาลขึ้นปีใหม่ส่งผลให้เกิดการเดินทางมากขึ้น จึงทำให้ยอดการใช้น้ำมันเครื่องบินในเดือนนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 685.5 ล้านลิตรหรือราว 22.1 ล้านลิตรต่อวัน จากเดือนธันวาคม มียอดการใช้ 651 ล้านลิตรหรือราว 21 ล้านลิตร ต่อวัน ซึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันเครื่องบินจะปรับตัวลงมามาก เนื่องจากสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก

นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ยังส่งผลให้การใช้ก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจีในเดือนมกราคม 2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 519.8 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน หรือราว 16.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2562 การใช้อยู่ที่ 532. ล้านกิโลกรัมต่อเดือน หรือราว 17.16 ล้านกิโลกรัมต่อวัน โดยมีปริมาณการใช้ลดลงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคขนส่งมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 2.6 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันชนิดอื่นแทน เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก รองลงมาเป็น ภาคปิโตรเคมี มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 6.5 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน และภาคครัวเรือน มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5.9 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและสนใจใช้เตาไฟฟ้ามากขึ้น

ส่วนการใช้ก๊าซเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ เดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 152.3 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน หรือราว 4.9 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2562 อยู่ที่ 153.2 ล้านกิโลกรัมต่อเดือน หรือราว 5.4 ล้านกิโลกรัมต่อวัน แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 จะพบว่าการใช้ลดลงถึง 11% มีสาเหตุมาจากการปรับราคาเอ็นจีวี สำหรับ รถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบาย ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ประชาชนและรถบรรทุกสินค้าหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็ว
บี 20 ทดแทนมากขึ้น

ส่วนภาพรวมการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม 2563 อยู่ที่ 991.7 ล้านลิตร หรือราว 31.9 ล้านลิตรต่อวัน เป็นกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถึง 959.3ล้านลิตรต่อเดือนหรือราว 30.9 ล้านลิตรต่อวัน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,553 วันที่ 1 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

ยอดใช้บี10พุ่งต่อเนื่อง สวนทางLPG-NGVร่วง