เร่งพัฒนาท่าเรือในกทม.เสริมท่องเที่ยว

27 ก.พ. 2563 | 11:44 น.

‘กรมเจ้าท่า’   เดินหน้าพัฒนา-ปรับปรุง ท่าเรือรอบกรุงเทพฯ หวังส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คาดเริ่มทยอยเปิดให้บริการ ก.ค.63 เตรียมแผนพัฒนาเฟส 2  พร้อมปรับปรุงท่าเรือเพิ่ม 15 ท่า เริ่มในปี 64-65

 

 

 

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการลงทุนพัฒนาท่าเรือเพื่อการต่อเชื่อมการเดินทางทางน้ำและเปิดประตูสู่พื้นที่ท่องเที่ยว ว่า ภายหลังจากที่กรมเจ้าท่าได้จัดใช้งบประมาณราว 3 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงท่าเรือกรมเจ้าท่าให้มีความสะดวกในการให้บริการมากขึ้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงท่าเรืออื่นๆ โดยรอบพื้นที่กรุงเทพฯ พัฒนาให้เป็นท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมรอบเกาะรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงเป็นท่าเรือและพื้นที่หลังท่าเพื่อเชื่อมโยงระบบโครงข่ายการขนส่งโดยสารทางน้ำกับระบบราง

 

ในขณะเดียวกันกรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงและก่อสร้างท่าเรือข้างต้น จำนวน 5 ท่า งบประมาณลงทุนราว 190 ล้านบาท ประกอบไปด้วย ท่าเรือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) สถานะปัจจุบันผู้รับจ้างงานก่อสร้าง จะเริ่มงานวันที่ 2 มี.ค.นี้ งบประมาณลงทุน 37,890,000 บาท ซึ่งท่าเรือแห่งนี้กรมเจ้าท่าร่วมกับวัดโพธิ์ดำเนินการ โดยจะจัดใช้เงินทุนจากวัดโพธิ์ในการลงทุนพัฒนา เบื้องต้นมีกำหนดแล้วเสร็จเปิดให้บริการ 27 ก.ค.2563

 

นายวิทยา กล่าวต่อว่า  กรมเจ้าท่ายังอยู่ระหว่างการปรับปรุงท่าเรือสาทร ปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าแล้วกว่า 15% จัดใช้เงินลงทุนรวม 11,300,000 บาท โดยกำหนดแล้วเสร็จ 31 ก.ค. 2563 รวมไปถึงท่าเรือราชินี กรมเจ้าท่าจัดใช้งบลงทุน 31,470,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างทำงานโครงสร้างตอกเสาเข็ม ผลงานคืบหน้าแล้วกว่า 10% มี กำหนดแล้วเสร็จ 12 ส.ค. 2563  ในขณะเดียวกัน ท่าเรือท่าเตียน กรมเจ้าท่าจัดใช้งบประมาณพัฒนา 39,065,800 บาท สถานะปัจจุบันงานโยธาคืบหน้าแล้ว 5% มีกำหนดแล้วเสร็จ 31 ส.ค.2563 และท่าเรือท่าช้าง จัดใช้งบลงทุน 71,198,000 บาท ปัจจุบันผลงานคืบหน้าราว 12% เบื้องต้นมีกำหนดแล้วเสร็จเพื่อเปิดให้บริการ 5 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ภาพรวมของการพัฒนาท่าเรือดังกล่าว ยังอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินงานของกรมเจ้าท่า จึงคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย

 

นอกจากนี้ท่าเรือแต่ละท่าที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้น เมื่อแล้วเสร็จจะกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม สร้างความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันคือท่าเรือกรมเจ้าที่พัฒนาแล้วเสร็จเปิดให้บริการแล้ว กลายเป็นท่าเรือที่สวยที่สุดในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยกรมเจ้าท่าจะเข้าไปกำกับดูแลการใช้บริการให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนตลอดปี 2563

 

อย่างไรก็ตามการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากของคนกรุงเทพฯ ซึ่งกรมเจ้าท่าต้องการพัฒนาระบบขนส่งโดยสารสาธารณะทางน้ำให้มีความปลอดภัย ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทางเรือ รวมถึงการลดปัญหาการจราจรทางบก อีกทั้งการคมนาคมทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยังถือเป็นประตูสู่พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ

 

รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า กล่าวว่า นอกจากการพัฒนาท่าเรือทั้ง 6 ท่าที่อยู่ระหว่างดำเนินการนั้น กรมเจ้าท่ายังมีแผนพัฒนาระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงปี 2564-2565 จะดำเนินการปรับปรุงท่าเรือเพิ่มเติมอีก 15 ท่า โดยจะพัฒนาให้มีอาคารพักคอย เบื้องต้นประเมินว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณปรับปรุงท่าเรือ พร้อมจัดทำเป็นระบบปิดราว 800 ล้านบาท อีกทั้งใช้งบเพื่อติดตั้งระบบซอฟต์แวร์และระบบการควบคุมภายในท่าเรืออีก 50 ล้านบาท หลังจากนั้นระยะที่ 3 ในช่วงปี 2565-2566 จะพัฒนาอีก 11 ท่า ผ่านการปรับปรุงและก่อสร้างอาคารพักคอยใหม่