“บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ

12 ก.พ. 2563 | 11:32 น.

นายกฯนำคณะลงพื้นที่ “น่าน-พะเยา” ติดตามการบริหารจัดการน้ำ ชูโมเดล NAN Sandbox จัดสรรที่ดินทำกินและแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ


วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2563) เวลา 10.30 น. ที่หนองเล็งทราย ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตีว่าการกระทรวงกลาโหม ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาหนองเล็งทราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ของจังหวัด มีพื้นที่รวม 5,563 ไร่ครอบคลุมพื้นที่ 5 ใน 6 ตำบลของอำเภอแม่ใจ บริเวณตอนใต้ของหนองมีฝายน้ำล้น น้ำที่ล้นไหลลงแม่น้ำอิงสู่กว๊านพะเยา ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ของหนองเล็งทรายมีสภาพตื้นเขิน จังหวัดพะเยาจึงได้จัดทำแผนการพัฒนาหนองเล็งทรายอย่างยั่งยืน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนากว๊านพะเยา มาตรการสำคัญ ได้แก่ การขุดลอก ก่อสร้างฝายและประตูระบายน้ำ การกำจัดผักตบชวา การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยวรวมทั้งสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวพบปะกับประชาชนตอนหนึ่งว่า หนองเล็งทรายเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ มีพื้นที่รับน้ำฝน 200 ตร.กม. สามารถกักเก็บน้ำได้ 5 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้นน้ำที่สำคัญที่จะไหลลงสู่กว๊านพะเยาซึ่งเป็นพื้นที่กลางน้ำ มีพื้นที่รับน้ำฝน 1,464 ตร.กม. ปัจจุบันจากการมีฝายพับได้ทำให้มีความจุเก็บกักเพิ่มเป็น 55.65 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น ต้องช่วยกันดูแลรักษา และพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำให้ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งการแก้ปัญหาวัชพืช ผักตบชวาและการตื้นเขินเนื่องจากการสะสมของตะกอนดิน การจัดการประมงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
  “บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ
สำหรับการดำเนินงานจัดการน้ำจังหวัดพะเยาที่ผ่านมา มีแผนงานจำนวน 1,164 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 42,253 ไร่ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเพิ่มความจุเก็บกักรวมทั้งสิ้น 34 ล้าน ลบ.ม.  ครัวเรือนได้รับประโยชน์ 5,044 ครัวเรือน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำ จำนวน 5 แห่ง และอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยเคียน นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยรู อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำแม่เมาะ  ประตูระบายน้ำบ้านดอยอิสาน เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องส่งเสริมให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือเป็นธนาคารน้ำของประเทศ รวมถึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้ทุกลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ
 
สำหรับการจัดการการท่องเที่ยวในบริเวณกว๊านพะเยาและพื้นที่โดยรอบรวมถึงพื้นที่หนองเล็งทราย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เพื่อให้มีจุดดึงดูดความสนใจให้นักท่องเที่ยวมาชมมากยิ่งขึ้น จะต้องจัดทำเรื่องอธิบายเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทำให้เกิดรูปแบบการสื่อสารที่ทันสมัย เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้อยู่ภายใต้โครงการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืน จึงอยากให้ชาวพะเยาช่วยกันรักษาแหล่งน้ำ ทั้งหนองเล็งทราย กว๊านพะเยาให้มีความสะอาด อนุรักษ์พันธุ์ปลาท้องถิ่น การรักษาระบบนิเวศให้คงความสมบูรณ์ หากทุกฝ่ายช่วยกันก็จะเป็นการพัฒนากว๊านพะเยาอย่างยั่งยืนแท้จริง

“บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ

จากนั้น เวลา 14.00 น. นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางไปยัง ศูนย์ราชการจังหวัดน่าน ตรวจติดตามการบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน พร้อมมอบโฉนดที่ดินให้แก่เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ให้แก่เกษตรกรจำนวน 2 ราย พร้อมกับเป็นสักขีพยานในการรับมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กับเป็นสักขีพยานในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบเอกสารโครงการจัดระเบียบการใช้ที่ดินป่าไม้ให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. ให้แก่ผู้แทนชุมชน จำนวน 5 ราย ได้แก่ บ้านหาดเค็ด บ้านเมืองหลวง บ้านราษฎร์สามัคคี บ้านเมืองจังเหนือ และบ้านเมืองจังใหม่พัฒนา โดยมีนายวรกิตติ  ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้บริหาร ผู้นำท้องถิ่น และประชาชนร่วมให้การต้อนรับ
  “บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ
โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรีรับชมการแสดงร้องเพลงประสานเสียง “เพลงธงชาติ” โดยนักเรียนชนเผ่าอำเภอสองแคว ร่วมกัน 6 ชนเผ่า (ไทลื้อ เมี่ยน ม้ง ขมุ ถิ่น และก่อ) พร้อมกล่าวกับประชาชนว่า รู้สึกดีใจที่มีโอกาสมาพบปะพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดน่านอีกครั้ง หลังจากที่ได้เดินทางมาพบประชาชนเมื่อเดือนธันวาคม 2559 วันนี้ได้นำคณะรัฐมนตรีมาตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าของโครงการต่าง ๆ  รัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งต้องมีแผนงบประมาณที่รัฐบาลต้องทำอย่างรอบคอบเช่นเดียวกับรายจ่ายอื่นในงบประมาณแผ่นดิน เราทุกคนช่วยกันเร่งสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลมีโครงการที่เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยต้องใช้งบประมาณในปี 63 ที่กำลังจะออกมาจึงจะเดินหน้าไปได้ 
  “บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวว่า คือการหาแนวทางการจัดการที่ดิน การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและการบุกรุก ด้วยการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนว่าทำไมต้องมีการจัดพื้นที่ ให้รับทราบถึงผลกระทบว่าจะเกิดความเสียหายเช่นไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในวงกว้างในปัญหาหมอกควันไฟป่า ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ในขณะนี้ ที่ต้องอาศัยทุกฝ่ายร่วมมือกัน โดยเฉพาะระดับชุมชนที่ต้องบริหารจัดการน้ำ ทั้งการขุดบ่อกักเก็บน้ำและขุดบ่อบาดาล หากประชาชนกลุ่มใดมีเครื่องมือก็ควรช่วยเหลือดำเนินการเพื่อให้รวดเร็ว ขณะที่ส่วนราชการในพื้นที่ต้องให้ความช่วยเหลือทั้งเรื่องการแจกจ่ายน้ำ การบริหารจัดการน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน พร้อมกันนี้  นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ใช้พื้นที่ที่มอบให้ในการทำกิน ทั้งพื้นที่ของการอยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ พื้นที่ป่าชุมชน และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่านำไปขายต่อ ซึ่งมีกฎหมายรองรับอยู่ในขณะนี้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการดำเนินงานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน พื้นที่จังหวัดน่าน (Nan SandBox) ในรูปแบบประชารัฐ โดยความร่วมมือของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน และภาคประชาสังคม เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งการจัดการที่ดินให้มีความสมดุล เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพ การอยู่อาศัยในชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติในพื้นที่ป่าของจังหวัด และการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องไฟป่า การเผาในที่โล่ง โดยทุกคนต้องช่วยกันแก้ปัญหาและหาวิธีการป้องกันที่จะมีผลในระยะยาว เช่น การปลูกป่า การสร้างความชุ่มชื้น และการสร้างแนวป้องกันไฟ เป็นต้น
  “บิ๊กตู่” ปลุกคน “น่าน-พะเยา” รักษ์น้ำ-ป่า ร่วมแก้ปัญหาป่าต้นน้ำ
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยนที่มีการบูรณาการ และใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรในท้องถิ่นและภูมิปัญญา มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรชีวภาพ เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพและความงามจากพืชสมุนไพรไทย นับเป็นตัวอย่างของการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพโดยชุมชนท้องถิ่น ที่ได้นำเอาองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์และบริการจากความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการนำกลไกของประชารัฐเข้ามาต่อยอดเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของชุมชนเดิม โดยใช้ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคและเป็นการกระจายความเสี่ยงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีการต่อยอดโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นสร้างรายได้อย่างยืนให้กับชุมชนต่อไป