คำวินิจฉัยศาลรธน.ทางสะดวก ป.ป.ช.ฟันเสียบบัตรแทนกัน

08 ก.พ. 2563 | 09:30 น.

 

น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างมากกับคำวินิจฉัยของ  “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ออกมา  สำหรับการไต่สวน สะดวก รวดเร็ว เพื่อเอาผิดกับส.ส.ที่ “เสียบบัตรแทนกัน” ในการโหวตลงคะแนนร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563

เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย “เปิดทาง” เอาไว้แล้วว่า “การกระทำโดยไม่สุจริตใช้สิทธิออกเสียงลงมติ แทนผู้ที่ไม่ได้อยู่ร่วมประชุมด้วยนั้น  เป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นส.ส. ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายของผู้ใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ  และความผาสุกของประชาชนโดยรวม โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ทั้งสมาชิกคนหนึ่งย่อมมี 1 เสียงในการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรค 3 และการออกเสียงลงคะแนนจะกระทำแทนกันมิได้     ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรค 3

คำวินิจฉัยศาลรธน.ทางสะดวก ป.ป.ช.ฟันเสียบบัตรแทนกัน

ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 19.30 น. ถึงวันที่ 11 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ปรากฏการแสดงตนและลงมติของ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์  ทั้งที่นายฉลอง รับเองว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว  การที่ส.ส.มิได้อยู่ในห้องประชุม แต่ปรากฏว่ามีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติแทน  ย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ในวันและเวลาดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม  และไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

 

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ด้วยว่า “ส่วนบุคคลใดจะต้องรับโทษอย่างไรหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไป”

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด  มีผลผูกพันรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  ศาล  องค์กรอิสระ  และหน่วยงานของรัฐ”

คำวินิจฉัยศาลรธน.ทางสะดวก ป.ป.ช.ฟันเสียบบัตรแทนกัน

นั่นหมายความว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพัน ป.ป.ช.ด้วย

ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ  จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องเพื่อให้ป.ป.ช. ตรวจสอบเอาผิด 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และ 1 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากกรณีเสียบบัตร แทนกัน ประกอบด้วย 

1.นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และ นางนาที  รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ซึ่งไม่อยู่ในที่ประชุม แต่ปรากฏว่ามีชื่อเป็นผู้ลงคะแนนเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนั้นยังมีพฤติการณ์ เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของ นายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้นำบัตรมาเสียบกดลงคะแนนรับร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย

คำวินิจฉัยศาลรธน.ทางสะดวก ป.ป.ช.ฟันเสียบบัตรแทนกัน

สำหรับโทษกรณีเสียบบัตรแทนกัน หากป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิด ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้ก่อน จนกว่าศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะตัดสินออกมาว่ามีความผิด ถึงจะต้องพ้นจากเก้าอี้ส.ส. และมีโทษทางอาญา คือ จำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สถานการณ์ ณ ตอนนี้ ข้อเท็จจริงว่า “เสียบบัตรแทนกัน” ผิด-ไม่ผิด จบไปแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่า “ไม่ชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ”

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้จึงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ที่จะดำเนินการไต่สวน  เพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการ “เสียบบัตรแทนกัน” ต่อไป...