พลิกวิกฤติโคโรนา โอกาสเซตซีโร่ ท่องเที่ยวไทย

10 ก.พ. 2563 | 03:00 น.

รายงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ไม่เพียงปิดตายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะนักท่องเที่ยวชาติอื่นก็ชะลอการเดินทางไป

จีนหายแล้ว3แสนคน

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2563 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามารวมแล้ว 3.95 ล้านคนหดตัว 4.82% นับเฉพาะผลกระทบหลังจีนสั่งชัตดาวน์ห้ามคนของตัวเองเดินทางออกนอกประเทศ ก็จะเห็นว่าระหว่างวันที่ 24 มกราคม-3 กุมภาพันธ์ 2563 มีต่างชาติเที่ยวไทย 1.07 ล้านคน ลดลง 2.75 แสนคน หดตัว 20.35% ในจำนวนนี้หากแยกเฉพาะตลาดจีน จะอยู่ที่ 1.63 แสนคน ลดลง 3.04 แสนคน หดตัวถึง 64.9%

การหดตัวของนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสูญเสียรายได้ไปแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้า/ของที่ระลึก 3.8 พันล้านบาท ตามมาด้วยที่พัก 3.1 พันล้านบาท การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม 2.4 พันล้านบาท

สภาวการณ์เช่นนี้มีการประเมินว่าจะกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างน้อย 3-6 เดือน และตามสมมติฐานการประเมินของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ประมาณว่าตลอดทั้งปีนี้ไทยจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวตั้งแต่ 1-3 แสนล้านบาทขึ้นกับการแพร่ระบาดจะสามารถยุติได้ภายในอย่างช้าไม่เกิน 6 เดือนนี้หรือไม่

ทำให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 6 หมื่นราย และแรงงานในภาคนี้กว่า 4 ล้านคน กำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยเฉพาะธุรกิจที่มีลูกค้าจีนเป็นหลักตอนนี้สูญเสียบุ๊กกิ้งไป 100% ร้านขายของที่ระลึกตามเมืองท่องเที่ยวหลักเริ่มทยอยปิดให้บริการชั่วคราว การลดต้นทุนด้านพนักงานเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ท่ามกลางสภาพคล่องทางธุรกิจที่หายไป ซํ้าเติมด้วยการเบี้ยวหนี้กันเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่

พลิกวิกฤติโคโรนา โอกาสเซตซีโร่ ท่องเที่ยวไทย

20-30%สูญพันธ์ุ

วันนี้แม้ภาครัฐจะออกมาตรการเยียวยามาบ้างแล้ว โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่เอกชนต้องการมากที่สุด คือซอฟต์โลนวงเงิน 1.23 แสนล้านบาท แต่ในทางปฏิบัติการกู้เงิน ก็ไม่ใช่ทุกคนจะกู้ได้ เพราะสถาบันการเงินก็มีเกณฑ์ประเมินในการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อ

งานนี้คนที่จะอยู่ได้ ต้องเป็นคนที่ไม่มีภาระหนี้ หรือมีหนี้น้อย คนที่มีสายป่านยาว และธุรกิจที่สั่งสมกำไรมาแต่เก่าก่อน ก็พอมีกำลังที่พอจะต่อสู้ได้ นอกนั้นบอกเลยว่าอยู่ยาก โดยเฉพาะธุรกิจระดับเอสเอ็มอี ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นเงินหมุน ขณะที่ธุรกิจซึ่งขยายงานจนเกินตัว การจะไปต่อก็ลำบาก

แหล่งข่าวที่ครํ่าหวอดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มองว่า ไวรัสโคโรนา เป็นวิกฤติที่หนักสุดที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เพราะจีนหายวูบทั้ง 100% ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยวจีนตอนนี้ชัตดาวน์ไปหมดแล้ว และด้วยนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย งานนี้ธุรกิจจึงกระทบกันเป็นโดมิโน คาดว่าจะมีการสูญพันธ์ุในธุรกิจนี้กว่า 20-30% อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

มองข้ามช็อตรอฟื้น

อย่างไรก็ตามท่ามกลางวิกฤติ ถ้ามองอีกด้านก็จะเป็นโอกาสที่ไทยจะกวาดบ้านครั้งใหญ่ เพราะที่ผ่านมาคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยที่เราภูมิใจกันหนักหนาว่าสร้างรายได้เข้าประเทศปีละร่วม 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจีดีพี ในอีกด้านกลับเต็มไปด้วยขยะที่ถูกซุกไว้ใต้พรม ไกด์ผี ทัวร์เถื่อน โรงแรมผิดกฎหมาย เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ส่งผลให้ธุรกิจที่ทำถูกกฎหมายนับวันมีแต่จะเตี้ยลง

ขณะเดียวกันการลงทุนต่างๆ เพื่อดักนักท่องเที่ยวจีน ที่ผ่านมาก็กอบโกยรายได้กันเป็นล่่ำเป็นสัน ทำกันเป็นวงจรทั้งกลุ่มคนไทยกันเองและนอมินีจากจีนที่เข้ามาลงทุน ไปจนถึงเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็มีทั้งปิดหูปิดตา หรือจับปรับกันพอเป็นพิธี ถ้ามีการโวยวายหรือเกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวขึ้นเท่านั้น พอเรื่องเงียบทุกอย่างก็เหมือนเดิม เหลือไว้แต่เพียงภาพลบ ตอกยํ้าคุณภาพของการบริการที่ถดถอยลง

วันนี้เมื่อจีนชัตดาวน์ ไกด์ผีชาวจีน ทัวร์เถื่อน หายเกลี้ยง ร้านค้าขายสินค้าแพงเวอร์ ก็ไปไม่ไหวช่วงนี้ ถ้าเจ้าหน้าที่เอาจริงก็ตัดตอนเครือข่ายทัวร์ผิดก..ได้ระดับหนึ่ง ไกด์ไทยที่มักจะออกมาโวยวายว่าถูกไกด์ต่างชาติแย่งงานก่อนหน้านี้ ถ้าต้องไปพัฒนาตัวเอง

 

ส่วนสถานประกอบการก็มีนักท่องเที่ยวน้อยลง ก็น่าจะเป็นช่วงที่เหมาะสมในการรีโนเวตธุรกิจ ซึ่งรัฐก็มีมาตรการสนับสนุนในเรื่องนี้อยู่ ตามแผนระยะเร่งด่วน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน นี้ ภาครัฐก็วาง 4 มาตรการระยะเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องมองข้ามช็อต รอเวลาตลาดฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง หลังโคโรนาคลี่คลาย พลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการเซตซีโร่ ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเติบโตในวันข้างหน้า ซึ่งแผนระยะยาวที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้ ที่เป็นมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Ease of Traveling) ที่จะเน้นเรื่องของการปรับปรุงบริการและการเดินทางเข้าประเทศ

การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการกระตุ้นตลาดโดยสนับสนุนชาร์เตอร์ไฟลต์สำหรับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง การขยายระยะเวลาเศรษฐกิจภาคกลางคืนเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว (โซนนิ่ง) ที่ก็หวังว่าแผนที่วางไว้จะถูกขับเคลื่อนไม่ใช่แพลนแล้วนิ่ง เพราะยังไงการทำให้จีนรู้สึกว่าไทยเป็นมิตรยามยากของทุกฝ่ายในวันนี้ จะเป็นแรงดึงดูดให้คนจีนกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง และจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซํ้า ถ้าไทยไม่เตรียมพร้อม ปัญหาต่างๆ ก็จะวนกลับไม่ต่างหากเดิม

รายงาน : ธนวรรณ  วินัยเสถียร

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563