คลังยอมสูญ2พันล.หนุนท่องเที่ยว

04 ก.พ. 2563 | 09:03 น.

คลังรับมาตรการภาษีหนุนท่องเที่ยว ทำรายได้หาย 2,200 ล้านบาท ยัน เศรษฐกิจยังไม่ถดถอย พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มแน่ แม้มั่นใจปัญหาไวรัสโคโรนาจบใน 3 เดือน พร้อมเปิดทางศึกษาเต็มที่ หาก รถทัวร์-บขส.ขอปรับลดภาษีน้ำมันบ้าง

 

 

 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 จะส่งผลให้กระทรวงการคลังสูญเสียรายได้ภาษีรวมประมาณ  2,207 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะคุ้มค่า เมื่อเทียบกับประโยชน์ในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว และเป็นมาตรการที่ดำเนินการออกมาทันท่วงที ที่เชื่อว่าจะประคับประคองเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้ขยายตัวได้ โดยยืนยันเศรษฐกิจไทย แม้จะมีปัญหาเข้ามากระทบหลายด้าน โดยเฉพาะปัจจัยภายนอก แต่ก็ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย เพราะยังไม่ถึงขั้นติดลบต่อเนื่อง ซึ่งสศค.เชื่อว่าปัญหาการระบาดของไวรัวสโคโรนาจะคลี่คลายได้ภายใน 3 เดือน เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% ตามที่คาดไว้ได้

คลังยอมสูญ2พันล.หนุนท่องเที่ยว

ลวรณ แสงสนิท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง พร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่าในปีนี้จะยังคงมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่องอีก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1-3 ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ส่วนมาตรการการเงินการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ปี 2563 นั้น ประกอบด้วย  1.การขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด. 90 และ ภ.ง.ด. 91 จากเดิมต้องภายในเดือนมี.ค.ของปี 2563 ออกไปเป็นภายในเดือนมิ.ย.ของปี 2563 เพื่อช่วยลดภาระผู้ที่ต้องชำระภาษีเพิ่ม ซึ่งในปี 2561 ที่ยื่นแบบในปี 2562 มีการชำระภาษีเพิ่มเข้ามาจำนวน 20,000 ล้านบาท ด้วยกัน

2.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ให้นิติบุคคลหักรายจ่ายจากค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่ได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563 ได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง โดยกรมสรรพากรคาดการณ์มีผู้ประกอบการใช้สิทธิ์อย่างน้อย 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้ปีละ 87 ล้านบาท

3.มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการปรับปรุง หรือ รีโนเวทกิจการโรงแรม โดยให้กับนิติบุคคลที่นำรายจ่ายจากการต่อเติม เปลี่ยนแปลงกับกิจการ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2563  ได้ 1.5 เท่า ของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยคาดว่ามีผู้ประกอบการใช้สิทธิ์อย่างน้อย 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้สูญเสียรายได้ปีละ 120 ล้านบาท หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท ในระยะเวลา 20 ปี

4.มาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น (น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน) สำหรับเที่ยวบินในประเทศ จากเดิม 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2563 จะทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ปีละ 2,000 ล้านบาท

“การปรับลดภาษีน้ำมันให้กับสายการบินอย่างเดียวนั้น เพราะเป็นมาตรการที่เราได้มีการศึกษาไว้อยู่แล้ว ซึ่งแนวทางในการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวเป็นเรื่องทีต้องทำเร่งด่วน จึงออกมาก่อน ดังนั้นหากกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวอื่น เช่น รถทัวร์ หรือ บขส. ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวด้วย กระทรวงการคลัง ก็ไม่ปิดกั้น สามารถมาเจรจากันได้ว่ามีความจำเป็นเช่นไร ซึ่งกระทรวงการคลังก็พร้อมพิจารณาปรับลดให้”นายลวรณ กล่าว

คลังยอมสูญ2พันล.หนุนท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ยังอนุมัติยังมาตรการด้านการเงิน ผ่านสถาบันการเงินของรัฐมีการดำเนินมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน และการขยายเวลาชำระหนี้และค่าธรรมเนียม และมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขผ่อนปรน ของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินรวม 123,000 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี