ทุนใหญ่ตะลุมบอน "ส้มตะวันตก" ไม่หวั่น ลดราคากลาง

08 ก.พ. 2563 | 02:00 น.

ยอมรับว่าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ต้องแบกภาระหนี้สูง ไม่ว่าจะเป็นการคิดคำนวณบวกภาวะเงินเฟ้อเข้าไปในเนื้องาน 2.5% ตามระยะเวลาก่อสร้าง     5 ปี การชำระคืนดอกเบี้ยให้เอกชน ผู้รับสัมปทาน หลังก่อสร้างแล้วเสร็จ 10 ปี ทำให้เกิดดอกเบี้ยที่สูง ฯลฯ ทางออกกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาตัดงบก้อนที่ไม่จำเป็นทิ้งไป เรียกว่ารีดไขมันส่วนเกินออก ส่งผลให้โครงการนี้มีมูลค่าและกำไรจากดอกเบี้ยลดลง จากการใช้อัตราเงินเฟ้อตรงตามสถานการณ์ คือ1%

ตัวอย่างเช่น มูลค่างานโยธา จาก 96,032 ล้านบาท เหลือเพียง 91,483 ล้านบาท หลังตัดเงินเผื่อจ่ายที่ตั้งไว้ สำหรับงานที่ได้กำหนดไว้ว่าจะจ่ายให้เอกชนเมื่อผู้ว่าจ้างสั่งให้ดำเนินการ (Provisional Sum)

อย่างไรก็ตามในมุมกลับ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เป็นโครงการขนาดใหญ่ นานๆครั้งจะเปิดประมูล แม้จะถูกปรับลดราคากลาง เชื่อว่ามีหลายค่ายให้ความสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในสมรภูมิรถไฟฟ้า แต่จะมีหน้าใหม่ๆ เข้ามาอย่างทุนจีน อีกทั้งการให้บริการเดินรถ จะได้ทั้ง สายสีส้มตะวันตกและสีส้มตะวันออก ระยะทาง 35.5 กิโลเมตร เป็นเส้นทางผ่ากลางใจเมือง จากตะวันออกวิ่งรับผู้โดยสารไปยังฝั่งธนบุรี ประเมินว่าผู้โดยสารมีจำนวนมากไม่แพ้สายหลักอย่างสายสีเขียว และสายสีนํ้าเงิน ส่วนการขายซองจะเริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากโครงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

 ทุนใหญ่ตะลุมบอน "ส้มตะวันตก" ไม่หวั่น ลดราคากลาง

 

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกและสีส้มตะวันออก (บางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี) เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับมีแนวเส้นทางรองรับการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก - ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากบริเวณจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (ทางรถไฟสายใต้เดิม) แล้วลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาเข้าสู่ย่านเมืองเก่า ย่านใจกลางเมืองก่อนออกไปยังชุมชนประชาสงเคราะห์และออก สู่ย่านชานเมืองถนนรามคำแหงมาสิ้นสุดเส้นทางที่ชานเมืองด้านทิศตะวันออกของกทม.บริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ ทั้งนี้สายสีส้มตะวันออกอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ปี 2566 ส่วนสาย  สีส้มตะวันตก คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จราวปี 2567-2568

กระทรวงการคลังยอมรับว่า ถึงโครงการสายสีส้มตะวันตกจะถูกตัดงบส่วนต่างๆออกไป แต่ในระยะยาว เอกชนสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นได้จากคนใช้บริการ และค่าโดยสารนั่นเอง

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

 ทุนใหญ่ตะลุมบอน "ส้มตะวันตก" ไม่หวั่น ลดราคากลาง