ชำแหละก.ม.ภาษีที่ดินฯ ชาวบ้านอ่วม เอกชนภาษีลดฮวบ 100 %

04 ก.พ. 2563 | 04:27 น.

เปิดรายงาน “อนุกมธ.ศึกษาผลกระทบการใช้ก.ม.ภาษีที่ดินฯ” ส.ส. ยัน ก.ม.ภาษีที่ดินฯ 63 ชาวบ้านอ่วม 1 ปีจ่ายเพิ่ม 10 เท่า ด้านเอกชนภาระภาษีลดลง 10-100 %   

 

รายงานผลการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่มีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย เป็นประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขกฎหมายปรับปรุงกฎหมายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบแล้วนั้น 

 

ในรายงานชี้ให้เห็นว่า การคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ เมื่อเทียบกับการประเมินภาษีตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ เกิดความไม่เป็นธรรมและมีผลกระทบต่อประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และผู้ประกอบการ 

 

ดังเช่น ข้อมูลประมาณการเปรียบเทียบภาระภาษีของประชาชนที่มีที่ดินอยู่ในเทศบาลนครแหลมฉบัง 2 ราย คือ นางก. ประเภทที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีภาระจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 จำนวน 1,041 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 13,462.43 บาท 

 

ส่วนนายข. ประเภทที่ดินเพื่อเกษตรกรรม/ที่ว่างเปล่า/ที่จอดรถ มีภาระเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในปี 2562 จำนวน 1,171 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2563 จำนวน 16,199.63 บาท ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนเกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 10 เท่าใน 1 ปี อย่างไรก็ดี อัตราตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ชี้แจงต่อ อนุกมธ.ว่า เนื่องจากกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้มีการปรับปรุงราคาประเมินที่ดินมาตั้งแต่ปี 2521 

 

 

ในขณะที่การประเมินภาษีตามหลักการของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะทำให้รายได้การจัดเก็บภาษีของอปท. กทม.และเทศบาลทั่วประเทศลดลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนงานโครงการต่างๆของท้องถิ่นที่ได้จัดเตรียมหรืออนุมัติไว้ทั้งระบบ ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บรายได้ของเขตกทม. กรณีจัดเก็บจากบริษัท สยามจตุจักร จำกัด เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 จำนวน 13,501,050 บาท ขณะที่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 จำนวน 4,363,090.08 บาท และกรณีจัดเก็บจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปี 2562 จำนวน 26,677,410 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 จำนวน 3,983,109.85 บาท 

 

อีกตัวอย่าง คือ เทศบาลนครแหลมฉบัง ในปี 2562 จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากท่าเทียบเรือซี 3  จำนวน60,625,000 บาท ขณะที่มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 อยู่ที่ 3,060,770.55 บาท และกรณีห้างฮาร์เบอร์ มอลล์ มีภาระจ่ายภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 จำนวน 7,337,217.63 บาท มีภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2563 จำนวน 1,506,872.01 บาท เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการมีภาระภาษีน้อยลงตั้งแต่ 10-100 %

 

รายงานผลการศึกษาปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562(ฉบับเต็ม)