3 เรื่องฉาว"สตม." ไร้คำตอบจาก"จักรทิพย์"

02 ก.พ. 2563 | 04:55 น.

 

เรื่องฉาวโฉ่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ชอบมาพากลในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในยุคที่มีบิ๊กแป๊ะ-พล...จักรทิพย์ ชัยจินดา เป็นผู้บัญชาการ ที่มีการตรวจสอบพบอยู่ในขณะนี้ อย่างน้อย 3 เรื่อง โดยบางเรื่องกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...)

แต่ละเรื่องแม้มีความพยายามของผู้สื่อข่าวที่จะสอบถามเพื่อให้ได้ความกระจ่างในฐานะผู้เกี่ยวข้องอนุมัติโครงการ แต่กลับไม่ได้รับการชี้แจงใดๆ จากปากของ พล...จักรทิพย์ แต่อย่างใด

เรื่องฉาวโฉ่ทั้ง 3 เรื่องเป็นการจัดซื้อจากส่วนกลาง แล้วส่งไปยังหน่วยงานของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)

เรื่องแรกเป็น โครงการจัดซื้อระบบตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ บุคคลเทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์ มูลค่า 2,100 ล้านบาท ที่นำมาใช้ในท่าอากาศยานนานาชาติ และด่านชายแดนต่างๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ..

โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ถูกตั้งข้อสังเกตว่า

1. ซื้อมากเกินความต้องการจริง ช่องตรวจคนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองมีทั้งสิ้นไม่เกิน 1,400 ช่อง แต่มีการจัดซื้อไปถึง 1,845 เครื่อง

2. ทีโออาร์ของโครงการจัดซื้อไบโอเมทริกซ์มีปัญหา เพราะล็อกบริษัท และเมื่อนำมาใช้จริงกลับไปติดตั้งในที่ที่ไม่อยู่ในทีโออาร์กว่า 700 เครื่อง ตรงนี้กลายเป็นจุดตายอีกตัว เพราะบริษัทเอกชนที่จัดการซื้อและ ถูกล็อก การติดตั้งจนป่านนี้ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงไว้ ล่าช้ามากว่า 320 วัน และยังไม่มีค่าปรับใดๆ

3. ที่มาที่ไปมีปัญหา เพราะแทนที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องจะตั้งเรื่องของบซื้อเอง กลับมีการตั้งเรื่องจาก หน่วยส่งกำลังบำรุง

โครงการดังกล่าว เนื่องด้วยงบประมาณที่เพิ่มมากเป็น 2,000 ล้านบาท ทำให้สถานีตำรวจภูธรได้รับการแจกจ่าย รวมถึงตำรวจท่องเที่ยวก็ได้รับด้วย

ว่ากันว่า ปัจจุบันเครื่องเหล่านี้ปัจจุบันไม่ได้ถูกนำมาใช้งานแต่อย่างใด

 

3 เรื่องฉาว"สตม."  ไร้คำตอบจาก"จักรทิพย์"

 

จึงเกิดคำถามว่า โครงการจัดซื้อเครื่องตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลไบโอเมทริกซ์ มีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะเครื่องไม่มีประสิทธิภาพ และไม่เป็นไปตามทีโออาร์ ซึ่งโครงการนี้จัดซื้อให้ สตม. โดยมี พล... จักรทิพย์ เป็นผู้อนุมัติโครงการ

ถัดไป...โครงการของ สตม. อีก 1 โครงการที่มีการตรวจสอบคือ โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์ จำนวน 27 ลำ งบประมาณรวม 348 ล้านบาท ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าจัดซื้อแพงเกินจริง ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และอาจมีการฮั้วในการจัดซื้อ

สำหรับเรือตรวจการณ์ที่จัดซื้อ เป็นเรือยนต์ 2 ประเภท 2 ขนาด คือ เรือยนต์ขนาด 21 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 1 เครื่องยนต์ จำนวน 8 ลำ ราคาลำละ 7,437,500 บาท รวม 59,500,000 บาท และเรือยนต์ขนาด 32 ฟุต ติดเครื่องยนต์ท้าย 2 เครื่องยนต์ จำนวน 19 ลำ ราคาลำละ 15,189,500 บาท รวม 288,600,500 บาท มูลค่าในการจัดซื้อเรือยนต์ทั้ง 2 ประเภท 348,100,500 บาท

วัตถุประสงค์ในการจัดซื้อเรือคือเพื่อใช้ตรวจการณ์บริเวณชายแดน เน้นชายแดนด้านที่ติดนํ้า แต่กลับก่อให้เกิดคำถามเรื่องความเหมาะสมและตรงตามภารกิจจริงหรือไม่ แถมโครงการจัดซื้อเรือ ของ สตม. ดำเนินการโดยสำนักงานส่งกําลังบํารุง แต่ใช้งบประมาณจากเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บตามด่านตรวจคนเข้าเมือง มาใช้ในการจัดซื้อเริ่มโครงการ


 

 

นอกจากนั้น ในช่วงที่มีการส่งมอบเรือ ไปประจำตามด่าน ตม.ในหลายจังหวัด ไม่มีกำลังพลที่สามารถขับเรือได้ จนต้องโอนย้ายเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานข้างเคียงที่สามารถขับเรือได้มาเป็นตำรวจ สตม. และริมแม่ นํ้าโขง แทบไม่เคยเห็นเรือตรวจการณ์ของ สตม.ออกปฏิบัติการในลำนํ้า เห็นแต่จอดอยู่บนบก จนเกิดคำถามว่ามีการใช้งานคุ้มค่ากับงบประมาณลำละหลายล้านบาท หรือทั้งโครง การ 348 ล้านบาทหรือไม่

อีกโครงการที่ถูกตรวจสอบและเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ ... ก็คือโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะมูลค่า 900 ล้านบาท

การจัดซื้อรถยนต์รุ่นนี้ อ้างวัตถุประสงค์เพื่อกระจายไปตามด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือ ด่าน ตม.ทั่วประเทศ เพื่อใช้ในลักษณะ รถสายตรวจตามภารกิจของ สตม.

แต่จากการตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ตม.บางแห่งไม่มีการติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ปลั๊กอิน เอาไว้ ทำให้รถไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะที่สั่งซื้อ และส่งมอบในบางพื้นที่ถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ

สำหรับสเปกรถไฟฟ้าสายตรวจอัจฉริยะกำหนดไว้ 2 รายการ ประกอบด้วย 1.จำนวน 230 คัน ติดตั้งอุปกรณ์ราคาต่อหน่วยคันละ 3,445,039 บาท รวมเป็นเงิน 792,358,970 ล้านบาท

2.จำนวน 30 คัน ติดตั้งอุปกรณ์ราคาต่อหน่วยคันละ 3,548,970 บาท รวมเป็นเงิน 106,451,730 บาท ใช้งบประมาณรวม 898,810,700 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 58,800,700 บาทแล้ว)

 

 

จากการตรวจสอบสเปกรถไม่มีระบุใน สัญญาซื้อขาย แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 330e Iconic วางจำหน่ายปี 2018 ในราคาคันละ 1,959,000 บาท จำนวน 60 คัน รวมราคา 509,340,000 บาท ขณะที่ราคาขายตามท้องตลาด ซึ่งรวมราคาตกแต่งแล้วอยู่ที่ 2,259,000 บาท

ทั้งนี้พบว่ารถยนต์บีเอ็ม ดับเบิลยู รุ่น 330e Iconic แบบปลั๊กอิน หมายถึงชาร์จไฟฟ้าได้ โดยระบบการทำงานของรถยนต์รุ่นดังกล่าวเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ได้เป็นรถไฟฟ้า 100%

ส่วนข้อมูลอุปกรณ์ที่ติดตั้งเสริม พบว่า อุปกรณ์เสริมที่จัดซื้อราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่ 260 เครื่อง ราคาเครื่องละ 200,000 บาท รวม 52,000,000 บาท แต่ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นแล้วราคาคอมพิวเตอร์แบบเคลื่อนที่อยู่ที่ 20,000-40,000 บาทเท่านั้น ส่วนปืนไฟฟ้า 540 กระบอก ราคากระบอกละ 40,000 บาท รวม 21,600,000 บาท แต่ราคาท้องตลาดหาซื้อได้ในออนไลน์เพียงแค่ 5,000 บาท

ปัจจุบันรถสายตรวจอัจฉริยะหลายคันที่ซื้อมาแล้ว จอดนิ่ง ใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ

 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,545 วันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ 2563