ลุ้นส่งออกฟื้น ดันจีดีพีโต 2.8%

16 ม.ค. 2563 | 23:40 น.

 

สัมภาษณ์

 

ปัจจัยต่างประเทศสงครามการค้าที่ถาโถมทั้งปี และรัฐบาลที่เพิ่งมาปฏิบัติงานในครึ่งหลังปี 62 (ตั้งครม.10 ..62) ...งบประมาณล่าช้า ล้วนเป็นปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจไทยปี 2562  คาดจะเติบโตเพียง 2.5-2.7% ตํ่าสุดในรอบ 5 ปี นับจากปี 2557 ส่วนเศรษฐกิจปีชวดจะเป็นหนูร่าเริงหรือซึมต่อฐานเศรษฐกิจได้สัมภาษณ์พิเศษดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัยผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทรฯ  ต่อมุมมองเศรษฐกิจรวมปีนี้

ประเด็นสำคัญในปี 2563 คืออะไรจะเป็น engine of  growth หรือเครื่องยนต์ที่จะดึงเศรษฐกิจไทยให้กลับไปโตขึ้นได้เร็วๆ เพราะสิ่งที่เห็นคือการส่งออกในปี 2562 ติดลบค่อนข้างมาก ทำให้กำลังการผลิตติดลบ  โรงงานทยอยปิดตัวกระทบต่อแรงงาน การบริโภคและการลงทุนในประเทศ ดังนั้นส่งออกปีนี้จึงเป็นทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยลบ ทุกค่ายที่ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว คือต้องให้ส่งออกไม่ติดลบเพราะถ้าติดลบ นั่นหมายถึงเศรษฐกิจจะไม่โต

 

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า บล.ภัทรฯ ให้นํ้าหนักมาเป็นอันดับ 1 คือเศรษฐกิจโลกฟื้น การค้าส่งออกต้องกลับมีเสถียรภาพ แม้ว่าตัวเลขที่ออกมาส่วนใหญ่จะคาดว่าจีดีพีโลกปี 2563 จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ข้อสำคัญคือประเทศพัฒนาไม่ว่าสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีอัตราเติบโตช้ากว่าปีที่แล้ว แต่ข้อสำคัญเราคาดว่าการค้าโลกจะดีกว่าปีที่แล้วที่โตช้า ส่วนสำคัญมาจากการเจรจาการค้าสหรัฐฯ กับจีนที่ตกลงกันได้ (ลงนามข้อตกลงเฟสแรก 15 .. 63) ช่วยให้ปัญหาที่เห็นในปีที่แล้วไม่ทวีความรุนแรง ขณะที่เงินบาทแข็งค่ามาก ยังเป็นปัจจัยกระทบความสามารถในการแข่งขันและเริ่มส่งผลถึงภาคท่องเที่ยวที่ราคาอาจไม่ถูกแล้ว

 

ลุ้นส่งออกฟื้น  ดันจีดีพีโต 2.8%

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

 

บล.ภัทรฯ ประเมินส่งออกปี 2563 จะโตแค่ 1% จากปี 2562 ที่คาดติดลบ 5 - 6%  หลังบวกต่อเนื่องมา 2 ปี (2560- 2561)  และประมาณการว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวกรอบ 2.5-2.8%  เทียบกับปีที่แล้วในระดับ2.4 - 2.5 คือดีกว่าเล็กน้อย ส่วนปัจจัยในประเทศให้นํ้าหนักเป็นเพียงปัจจัยที่จะมาซํ้าเติม ได้แก่

1. รายได้ภาคการเกษตร จากราคาสินค้าเกษตรตกตํ่า  ผลกระทบทั้งประเด็นตลาดโลก เงินบาทแข็งค่า และประเด็นเรื่องภัยแล้งระดับนํ้าที่อยู่ในโซนอันตราย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นถึงปลายนํ้า

2. สถาบันการเงินชะลอปล่อยสินเชื่อ ปีที่แล้วทั้งปีสินเชื่อธนาคารพาณิชย์โตเพียง 1-2% เท่านั้น ส่วนปีนี้ คำถามคือธนาคารยังกล้าปล่อยกู้หรือไม่ ถ้า 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ยังไม่กล้าจะปล่อยกู้ เศรษฐกิจก็ยังโตแบบฝืดๆ ถือเป็น Credit crunch  (ภาวะที่สถาบันการเงินปล่อยกู้สินเชื่อน้อยลงมากอย่างรวดเร็วหรือกู้จากธนาคารยากขึ้น) ในระดับหนึ่ง ดังนั้นขณะนี้ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง จึงออกมาตรการออกมาช่วยเอสเอ็มอี  ปีนี้ก็ต้องดูอีกกลุ่ม กลุ่มรีเทล สินเชื่อบ้านบุคคล (สินเชื่อรถยนต์ บัตรเครดิต) ถ้ารายได้กระทบจะกระทบคุณภาพสินเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ธนาคารไม่กล้าเสี่ยงที่จะปล่อยกู้ต่อเนื่อง

3. ประเด็นการเมือง เสถียรภาพการเมืองซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ มองว่าอาจจะมีดาวน์ไซด์ฉุดเศรษฐกิจปีนี้ในระดับหนึ่งได้


ลุ้นส่งออกฟื้น  ดันจีดีพีโต 2.8%

 

เศรษฐกิจไทยปีนี้  น่าจะฟื้นในไตรมาส และดีขึ้นในไตรมาส 3 ส่วนไตรมาสแรกต้องดูว่ามีโมเมนตัมจากแรงส่งไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ตัวเลขส่งออกในเดือนธันวาคม 2562 เพราะในเดือนพฤศจิกายน 2562 ติดลบกว่า 7%  และเรื่องไม่มีพ...งบประมาณ จะเห็นว่าการใช้จ่ายของภาครัฐหดตัวไป 15% ในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2562 ซึ่งเป็นการลดลงค่อนข้างมาก หากมีพ...งบประมาณเข้ามาอาจเข้ามาช่วยเรื่องการตกเบิก ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 ได้

ส่วนปัจจัยบวกในปีนี้ คงต้องลุ้นว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวเร็วกว่าคาด ทำให้เศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น หรือความคาดหวังกรณีภาครัฐอาจใช้นโยบายเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาสเกลยังไม่ใหญ่มากพอหรือไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควรเช่นบางนโยบายให้ผลไม่ชัดเจน เช่น โครงการชิม ช้อป ใช้หรือการให้เงินที่ดูเหมือนว่าเป็นนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว

 

 

ปัญหาของนโยบายกลุ่มนี้คือถ้าเราบอกว่าให้เงินไปใช้ อย่างผมไปทานอยู่แล้ว สมมติสัปดาห์ละ 1,000 บาท อยู่ดี ก็เอาเงินมาให้ใช้ 1,000 บาท ผมก็เอาเงินตัวเองไปเก็บเป็นเงินประหยัด ดังนั้นเวลารัฐวัดผลว่าการใช้จ่ายถามว่าเกิดขึ้นไหม เกิดขึ้นแน่ แต่วัดผลไม่ได้ว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตรงนี้รัฐควรมีการวัดผลในแง่เชิงปฏิบัติ ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงไหม เพราะเราอาจไปให้คนที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่หวังว่าลงทุนของภาครัฐ อย่างในอีอีซี  แต่ในขั้นตอนปัจจุบัน เม็ดเงินอาจยังไม่ได้ไหลลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ยังเป็นเรื่องการส่งมอบที่ดิน เรื่องการเวนคืนที่ดีมากกว่า จึงหวังไม่ได้ว่าจะมีการกระตุ้น

ดร.พิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การบริหารการลงทุนขณะนี้อยากให้ระวังการลงทุนในหุ้น (growth stock) ที่พึ่งพาการเติบโตมาก ประเภทพี/อีสูงๆ ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากเศรษฐกิจเติบโตช้ากว่าคาด ก็อาจไม่ได้อย่างที่หวัง ควรลงในหุ้นกลุ่มพื้นฐานที่ให้ผลประกอบการโตมั่นคงต่อเนื่องพี/อี ไม่แพง หรือหุ้นกลุ่มหุ้นปันผลเพื่อเป็นหลุมหลบภัย

 

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563