"ณรงค์ชัย" ห่วงบาทแข็ง-ดอกเบี้ยตํ่า-ภัยแล้ง ทุบเศรษฐกิจไทย

12 ม.ค. 2563 | 23:00 น.

เงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องถึง 8% ในปีที่ผ่านมา กดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากการส่งออกที่คาดว่าจะติดลบถึง 2.5% ทำให้ทั้งปี 2562 เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.5% จากประมาณการเดิมที่มองว่าจะโตได้ถึง 3%

 

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า นอกจากบาทแข็งจะเป็นทุกข์ต่อเศรษฐกิจแล้ว ปีนี้ยังมีเรื่องดอกเบี้ยตํ่าและภัยแล้งด้วย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องมีทั้งคนได้และคนเสีย แต่คนเสียจะมีมากกว่าได้ อย่างบาทแข็ง คนที่มีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเดือดร้อนหมด ไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น และดอกเบี้ยตํ่า คนได้ประโยชน์ก็คือบริษัทใหญ่ๆ ที่จะกู้ดอกเบี้ยตํ่า แต่คนอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ที่จะกู้ดอกเบี้ยตํ่าได้แบบนั้น เพราะเรตติ้งสู้เขาไม่ได้ ส่วนนํ้าแล้งคนในเมืองอาจจะเดือดร้อนน้อยกว่านอกเมือง

เรื่องบาทแข็ง ปีหนึ่งๆ เราส่งออก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แค่บาทแข็งขึ้น 1 บาท หายไปทันที 2 หมื่นล้านบาท ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้กับต่างประเทศ ซึ่งจีนเป็นตลาดใหญ่ มีการทิ้งจองไปมาก เพราะโอนต้องใช้เงินมากกว่าและการจองปีนี้ก็ตก ส่วนข้อดีก็มีบ้าง อย่างราคานํ้ามันไม่ได้ขึ้นเร็ว เพราะเราซื้อนํ้ามันเป็นดอลลาร์ นํ้ามัน ค่าไฟ จึงไม่เพิ่มมากและไปเที่ยวต่างประเทศจะเห็นว่า คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศเยอะมาก

“ค่าของเงินอยู่ที่ดอลลาร์เริ่มต้น ดอลลาร์อ่อน เราก็แข็งขึ้น ปีที่ผ่านมาดอลลาร์อ่อนลงเล็กน้อย แต่เรากลับแข็งค่าขึ้นมากกว่า ซึ่งประเทศในเอเชียแข็งเกือบทั้งหมด ที่อ่อนลงก็มีจีน อินเดียและเกาหลีใต้ ซึ่งถ้ามองแค่เรากับจีน เราแข็ง 8% ขณะที่จีนอ่อนลง 2% เกาหลี 4% คิดกลับมา คนเกาหลีมาไทยแพงขึ้น 12% และคนจีนแข็งขึ้น 10% เพราะ ฉะนั้นจะบอกว่า แข็งค่าปกติไม่ได้ ต้องบอกว่า แข็งผิดปกติ

"ณรงค์ชัย" ห่วงบาทแข็ง-ดอกเบี้ยตํ่า-ภัยแล้ง ทุบเศรษฐกิจไทย

ณรงค์ชัย อัครเศรณี

 

สาเหตุที่บาทแข็ง เพราะหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เราเกินดุลเกือบทุกปี ทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศมีมาก ขณะที่การลงทุนน้อย ทั้งที่เรายังเป็นประเทศโลกที่ 3 ยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก แต่เราลงทุนตํ่าทั้งรัฐและเอกชน การลงทุนภาครัฐที่ช้า เพราะระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่ออกมา เปิดโอกาสให้ฟ้องและอุทธรณ์ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า ใครแพ้ก็ฟ้องตลอด ทำให้กระบวนการหยุดชะงักไป ขณะที่ี่เอกชนมองว่า การเมืองไม่นิ่ง ทำให้ลงทุนไม่เต็มที่

อีกเหตุผลที่สำคัญมากและยังไม่พูดถึงคือ เรามีความเชื่อว่า เงินตราต่างประเทศต้องเข้าง่ายออกยาก อาจเพราะในอดีตเราเป็นประเทศจน ไม่มีเงินตราต่างประเทศ ทำให้ความคิดนี้ฝังหัวมา แม้ธปท.จะผ่อนปรน แต่หน่วยงานอื่นยังผ่อนไม่มากอย่าง ธุรกิจประกันชีวิต ที่มีเงินเยอะ เป็นมีเงินยาวและเย็น จึงต้องนำเงินไปลงทุน ซึ่งขณะนี้มีเงินลงทุนในตราสารต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ 4 ล้านล้านบาท แต่มีระเบียบว่า ให้ออกไปลงทุนต่างประเทศได้ไม่เกิน 15% หรือ 6 แสนล้านบาทและต้องป้องกันความเสี่ยง 100% 

ถ้าเปิดประตูนี้มากขึ้น จะทำให้เงินออกไปนอกประเทศมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานกำกับ มีสูตรในการคำนวณความเสี่ยงจากการลงทุนอยู่แล้วว่า ลงทุนอะไรจะคิดนํ้าหนักความเสี่ยงเท่าไหร่และต้องดำรงเงินกองทุน (CAR ratio) ขณะที่การป้องกันความเสี่ยง เชื่อว่า แต่ละแห่งสามารถที่จะบริหารจัดการได้ ไม่ต้องสำรอง 100% เพราะเช่นนั้นจะไม่เหลือกำไรเลย

นอกจากนั้น การที่ธปท.ใช้นโยบาย Inflation Targeting  แต่ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า ไม่มี Inflation ให้ Target เพราะเงินเฟ้อเราตํ่ามาก ดังนั้นควรปรับให้เหมาะสม ซึ่งบางประเทศใช้ Fx Targeting คือ บริหารค่าเงินให้สมดุลกับเศรษฐกิจ จะได้ดูในหลายมิติไม่ใช่แค่เงินเข้าเงินออกอย่างเดียว ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ หน่วยงานอื่นจะได้ดูในแนวนี้ด้วย ถ้าเห็นความสำคัญของ Fx mutual แต่การจะทำแบบนั้นได้ต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลกลาง เพื่อให้ทุกหน่วยงานแก้ไขกฎเกณฑ์ไปในทางเดียวกัน

ส่วนการลงทุน รัฐบาลน่า จะอาศัยจังหวะที่ดอกเบี้ยตํ่ากู้เงิน ในประเทศมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ได้พัฒนาอย่างระบบนํ้าให้กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งไม่ต้องกังวลหนี้สาธารณะ เพราะ ยังตํ่าเพียง 40% ของจีดีพี และหากออกพันธบัตรระยะยาว 20-30 ปี ซึ่งดอกเบี้ยไม่ถึง 3% ก็จะมีต้นทุนที่ตํ่าในระยะยาวได้

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12-15 มกราคม 2563