องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน หวั่นคดีอู่ตะเภา“ดาบสองคม”

10 ม.ค. 2563 | 03:36 น.

 

ในขณะที่สังคมกำลังรอลุ้นผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด “คดีอู่ตะเภา” ที่ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน กับ คณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ให้ความเห็นกับ ฐานเศรษฐกิจว่า หากศาลยกฟ้องให้กลุ่ม CP แพ้ในคดีนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างที่ได้ทำกันมายาวนานเรื่องของระบบและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นถูกต้องแล้ว

 

แต่ถ้าศาลสั่งให้ กลุ่ม CP ชนะ คดีนี้จะเกิดความเสียหายอย่างมาก ผลประโยชน์ที่เอกชนอ้างเป็นตัวเงินที่รัฐจะได้จากเรื่องนี้เทียบไม่ได้กับกระบวนการจัดซื้อจ้ดจ้างภาครัฐที่ได้ทำมา รวมถึงระบบกฎหมายของประเทศ ทั้งยังบั่นทอนความยุติธรรมและระบบการแข่งขันที่กระทบทั้งหมด เป็นการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้ทำกันมา

 

ถ้ากลุ่ม CP ได้ประโยน์จากนี้ไปข้าราชการที่ทำหน้าที่หรือรับผิดชอบในเรื่องลักษณะนี้จะใช้ดุลพินิจในการอนุญาตและผ่อนปรนได้ซึ่งพฤติกรรมลักษณะนี้เป็นที่มาของ"การทุจริตคอร์รัปชัน"ได้  

สำหรับคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.381/2562 ที่ บริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด กับพวกรวม 5 คน (กลุ่ม CP) ฟ้องร้อง คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยกลุ่ม CP ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกฯมีมติไม่รับซองข้อเสนอของกลุ่ม CP บางรายการ ได้แก่ ข้อเสนอตัวจริง กล่องที่ 6 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิกและแผนธุรกิจ และตัวจริงกล่องที่ 9 ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคา ในการยื่นข้อเสนอโครงการฯ ตามหนังสือที่กพอ.ทร. 182/2562 ลว.10 เมษายน 2562 โดยอ้างว่า กลุ่ม CP ได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเกินกำหนด เป็นเหตุให้กลุ่ม CP ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย

ทั้งนี้ ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลฯเห็นว่า เอกสารซองข้อเสนอดังกล่าวมาถึงยังสถานที่รับซองภายหลังเวลา 15.00 น.อันเป็นกำหนดเวลาปิดการรับซองแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกฯย่อมมีหน้าที่ปฏิเสธไม่รับกล่องซองข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป โดยไม่สามารถพิจารณายกเว้นให้แก่กลุ่ม CP เป็นกรณีพิเศษได้ ไม่เช่นนั้นย่อมจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง และทำให้เกิดการแข่งขั้นที่ไม่เป็นธรรม

ทางกลุ่ม CP จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปความได้ว่า การให้กลุ่ม CP ยื่นซองข้อเสนอให้ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที ซึ่งอาจมีบุคคลใดเห็นว่า เป็นข้อบกพร่องของกลุ่ม CP อยู่บ้าง แต่การเปิดโอกาสให้กลุ่ม CP ยื่นซองข้อเสนอ เพื่อแข่งขันกับผู้ยื่นข้อเสนออีก 2 ราย อย่างครบถ้วนและเป็นธรรมนั้นจะเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการนโยบายฯ ได้ใช้ดุลพินิจตัดสินใจในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน ซึ่งไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการคัดเลือกฯนำข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่กลุ่ม CP นำเอกสารจำนวน 2 กล่อง คือ กล่องที่ 6 และที่ 9 มา ณ จุดลงทะเบียนยื่นข้อเสนอเมื่อเวลา 15.09 น. มาเป็นเหตุ ในการมีมติไม่รับข้อเสนอซองที่ 2 และ ที่ 3 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนและไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ  

รอลุ้นผลของคดีนี้ว่า สุดท้ายแล้วผลจะออกมาเช่นใด