“กรณ์”แนะจัดสรรงบ 63 สอดรับสภาพเศรษฐกิจ

08 ม.ค. 2563 | 08:34 น.

 

“กรณ์”แนะรัฐบาลออกแบบงบประมาณให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจสอดรับกับโลกปัจจุบัน จัดสรรให้เพียงพอตรงตามความต้องการของประชาชน 

วันนี้(8 ม.ค.63) นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ สงวนคำแปรญัตติ เพื่อปรับลดงบประมาณโดยรวมลง 1% ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 

โดยแนะให้รัฐบาลเร่งใช้เงินงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มาก ทั้งนี้การใช้เงินงบประมาณของรัฐจะเป็นภาพจำของรัฐบาล ขณะที่งบประมาณปี 2563 ยังไม่ได้สะท้อนดีเอ็นเอของรัฐบาล เพราะกว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาลก็ได้มีการจัดเตรียมงบประมาณมาระดับหนึ่งแล้ว และอีกไม่นานรัฐบาลก็จะได้เริ่มเตรียมงบประมาณปี 2564


ดังนั้น นายกรณ์ จึงเสนอให้มีการออกแบบงบประมาณปี 2564 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วอย่างน้อย 5 เรื่อง 

 

   “กรณ์”แนะจัดสรรงบ 63  สอดรับสภาพเศรษฐกิจ


1. สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า ปัญหาเงินบาทที่สะท้อนโครงสร้างในหลาย ๆ เรื่อง ที่สำคัญคือ ความได้เปรียบที่เราเคยมีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าของเงินมีปี 2540 วันนี้เราคืนเขาไปหมดแล้ว โครงสร้างเศรษฐกิจที่เราเคยพึ่งการส่งออกในการขับเคลื่อน วันนี้ใช้การไม่ได้ ยิ่งเป็นเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องลงทุน และหนึ่งในสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าเพราะเอกชนเลิกลงทุน ทำให้การนำเข้าสินค้าทุน นำเข้าวัตถุดิบลดลง ถึงแม้การส่งออกลดลง แต่ก็เป็นเหตุให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเราแข็งค่าขึ้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตัวที่จะมาทดแทนตรงนี้ได้คือการลงทุนของรัฐบาล แต่งบประมาณปี 63 งบประมาณงบลงทุนโดยรวมเทียบกับจีพีแล้ว จริง ๆ แล้วลดลงเมื่อเทียบกับงบปี 62 ด้วยซ้ำไป 

 

2. ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ประชาชนหนี้สิน หนี้บัตรเครดิต หนี้กองทุนหมู่บ้าน หนี้นอกระบบ หนี้ กยส. การกู้เงินมาซื้อรถคันแรก ประชาชนอยู่สภาวะที่ถูกฟ้องร้อง ล้มละลาย ยึดทรัพยสิน จำนวนนับล้านคน พฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไป รายได้ที่ลดลง งานที่ลดลง แต่ทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ นำไปใช้กับ เซเว่นฯ โลตัส บิ๊กซี ที่มีผู้ใช้บริการถึง 12 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในรอบสิบปีที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ประชาชนยังซื้อของผ่าน อีคอมเมิร์สถึง 160,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัวในรอบสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการกระจุกตัวของอำนาจเศรษฐกิจ แบงก์ชาติบอกว่า มีผู้ประกอบการ 5% มีส่วนแบ่งของรายได้โดยรวมทั้งหมดของประเทศสูงถึง 46%  และมีส่วนแบ่งกำไรทั้งหมด 60% สะท้อนให้เห็นภาพโดยรวมของ เอสเอ็มอีว่าแข่งขันไม่ได้ เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการไม่ลงทุน เพราะประสิทธิภาพในการแข่งขันลดลง เนื่องจากมีอำนาจผูกขาดอยู่แล้ว 

รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยงบประมาณ ดีใจที่เพิ่มงบประมาณเรื่องการศึกษาสอนให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ เพิ่มงบประมาณให้กับวิทยาลัยเกษตรเพื่อเพิ่มโอกาสคนยากคนจน ที่จะเรียนทำการเกษตรโดยอาศัยเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น แต่เราต้อพิจารณาในแง่การปฏิรูประบบภาษีให้เป็นธรรม 

 

3. โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป เข้าสู่สังคมสูงอายุเรามีความจำเป็นที่ต้องออกแบบงบประมาณ เนื่องจาก 20-30 ปีที่แล้วที่เราไม่เคยมีปัญหานี้ เราต้องมีงบประมาณเพียงพอ แก้ปัญหาโลกร้อน เราต้องมีงบประมาณเพียงพอให้แก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร  

4. ภาวะโลกร้อน สำคัญที่สุดคือเราต้องมีงบประมาณเพียงพอที่จะแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกร 

5. ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน 

“จึงอยากฝากไปทางรัฐบาลว่า เรามีความจำเป็นที่จะต้องจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นให้กับประชาชน ให้เขามีความรู้สึกว่าเงินภาษีได้ถูกใช้ไปในสิ่งที่มีผลต่อชีวิตของเขาและลูกหลาน ไม่ได้ตอบสนองเฉพาะแต่หน่วยงานของรัฐบาล” นายกรณ์ ระบุ