‘อู่ตะเภา’ชิงเค้ก 2.9แสนล้าน บรรทัดฐานประมูลโครงการรัฐ

10 ม.ค. 2563 | 00:55 น.

 

ประเด็นคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีการประมูลสนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 2.9 แสนล้านบาท จะออกมาอย่างไร จะยกฟ้องกลุ่มซีพีเหมือนคำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ยึดแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดทุกครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม

นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความพยายามของกองทัพเรือว่าเป็นการดำเนินการที่ต้องชื่นชม เพราะเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามสิทธิที่พึงมีตามช่องทางที่สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มูลค่าสูง เพื่อไม่ให้ซํ้ารอยกับกรณีค่าโง่โฮปเวลล์ที่เกิดขึ้นมาแล้วที่รัฐอาจจะต้องชดเชยให้กับเอกชนด้วยเงินมหาศาล

“เท่าที่มีข้อมูลทราบว่าในคดีใหญ่ที่มีผลกระทบมหาศาลมักจะมีการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลฯพิจารณา เพราะในการพิจารณาคดีแต่ละคดีก็จะมีทั้งตุลาการเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมากที่ให้ความเห็นอาจจะแย้งกัน ครั้งนี้อาจจะนำกรณีดังกล่าวมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อให้เกิดความโปร่งใส รอบคอบ ยอมรับของทุกฝ่าย”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวแวดวงผู้ประกอบการก่อสร้าง ระบุ ตาม ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างรัฐ จะยึดเงื่อนเวลาเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ที่ผ่านมามีกรณีตัวอย่างหลายโครงการที่ผู้รับเหมายื่นเอกสารล่าช้า ถูกรัฐตัดสิทธิ เมื่อเรื่องถึงศาล ในที่สุด ต้องยกฟ้องทุกราย แต่กรณีนี้มีคนตั้งคำถามว่า หากยื่นวันนี้ไม่ทัน สามารถยื่นในวันถัดไปได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มองว่ากำหนดระยะเวลาในประกาศถือเป็นกฎที่มีสภาพบังคับ ไม่สามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาได้ หรือจะสั่งให้รับซองประมูลทั้งๆที่มายื่นเกินเวลาที่กำหนด เป็นประเด็นที่สังคมจับตามองอย่างใกล้ชิด เหตุผลเพราะ 1. สนามบินอู่ตะเภา เป็นโครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าสูง ไม่ค่อยเกิดขึ้นในประเทศไทย 2. ศาลปกครองสูงสุดเคยวางแนวคำพิพากษาไว้ว่า การมาลงยื่นซองราคาไม่ทัน ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย หากเกิดจากประมาทเลินเล่อ ตัวอย่างตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ. 1205/2560 กรณีคล้ายๆกรณีสนามบินอู่ตะเภา ต่างกันตรงที่คดีนี้ยื่นช้ากว่ากำหนด 39 วินาที

3.การดำเนินโครงการอาจล่าช้า เพราะฝ่ายที่เสียสิทธิ มีสิทธิยื่นเรื่องต่อศาลปกครองกลาง ตามมาตรา 75 ของ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 ซึ่งบัญญัติว่า 1. ศาลปกครองฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ

2.คู่กรณีที่แท้จริงหรือบุคคลภายนอกนั้นมิได้เข้ามาในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหรือได้เข้ามาแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรม

3.มีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม หากประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรจะให้มีการวินิจฉัย ในที่ประชุมใหญ่ ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 มาตรา94 กำหนดว่า

“ในคดีที่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังต่อไปนี้ อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น ได้แก่ 1.คดีที่เกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นจํานวนมากหรือประโยชน์สาธารณะที่สําคัญ 2.คดีที่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครองที่สําคัญ 3.คดีที่อาจมีผลเป็นการกลับหรือแก้ไขแนวคําพิพากษาเดิมของศาลปกครองชั้นต้นหรือศาลปกครองสูงสุด4.คดีที่มีทุนทรัพย์สูง