“นที” ลุยตั้ง "ธนาคารประชาชน" ลบคำดูถูก กทบ.

25 ธ.ค. 2562 | 06:16 น.

วันที่ 25 ธันวาคม 62 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ร่วมกับสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จัดการสัมมนาฐานเศรษฐกิจ "เสริมแกร่งเศรษฐกิจฐานราก ลงหลัก ปักฐาน สร้างไทย"  ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงเเรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร  โดยมี รศ.นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง  บรรยายพิเศษ“กลไกเสริมศักยภาพ กองทุนหมู่บ้านฯ”

รศ.นที กล่าวตอนหนึ่งย้ำถึงบทบาทของการกองทุนในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่กำลังขับเคลื่อนในเรื่องนี้ หลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับมอบแผนแม่บทจากกองทุนหมู่บ้านเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับกองทุนหมู่บ้าน ต้องการให้เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากจึงเป็นความคาดหวังของรัฐบาลกับชาวกองทุน เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2544 กองทุนฯถูกสบประมาท ดูถูกว่าอยู่ไม่ถึง 3 ปี รัฐบาลให้เงินก็จะลาลายหายไป จะมีปัญญารักษางบประมาณแผ่นดินได้อย่างไร 

“ไม่พูดอะไรมากกับคำสบประมาท วันนี้เราจะอายุ 19 ปีแล้ว เป็น 19 ปี ที่ทำหลายอย่างที่หลายฝ่ายเห็นคุณค่า จนนำมาซึ่งความเชื่อมั่นจากรัฐบาลว่าจะสามารถนำสู่ทิศทางที่ดี โดยอาศัยประสบการณ์ จากความยากลำบาก ล้มลุกคลุกคลาน ความเดือดร้อนจากเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน เพราะงานกองทุนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่สามารถเนรมิตอะไรได้ดั่งใจ” 

“นที” ลุยตั้ง "ธนาคารประชาชน" ลบคำดูถูก กทบ.

 

ดร.นที ย้ำว่า 19 ปี สิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือบทเรียน จากต้นทุนไม่เหมือนใครที่บ่มเพาะจากประสบการณ์จริง เจ็บปวดจริง หัวเราะจริง ร้องไห้จริงจากสิ่งที่เกิดขึ้น เรามีระบบคณะกรรมการกองทุนที่หมุนเวียนกันมา มีกรรมการเป็นล้านคน มีเครือข่ายทุกจังหวัด ตำบล อำเภอ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคุยกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เขาตั้งคำถามว่าถ้ากองทุนหมู่บ้านจะเป็น “ธนาคารประชาชน” มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน จึงตอบไปว่าตอนนี้มีเงินหมุนเวียน มีผู้จัดการเป็นล้านคนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล ที่เรียนรู้งานมาสิบกว่าปีและพร้อมที่จะเรียนรู้ ทั้งนี้ยืนยันว่าเงินไม่ใช่พระเจ้าและคำตอบตัวตัดสินทั้งหมด แต่เงินเป็นเครื่องมือในการทำอะไรได้มากยิ่งขึ้นในกระบวนการ ดังนั้นกับคำว่าธนาคารประชาชนเรามีความพร้อมอย่างเต็มที่ ที่อยากตราไว้ในแผ่นดิน 

รศ.นที กล่าวอีกว่า เรื่องเงินทุนวันนี้มีเงินหมุนเวียนแต่ละกองทุนมากกว่า 1 ล้าน ถ้านำเงินมาลงกองกลาง 2 แสนบาท หรือมีเงินทุนประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงื่อนไขของการตั้งธนาคารที่ระบุว่าต้นทุนเริ่มต้นที่ 5 พันล้านบาท ดังนั้นนั้นเรื่องทุนไม่มีปัญหาในการมีธนาคารประชานของตัวเอง การเป็นธนาคารประชาชนแห่งแรกของประเทศเป็นได้ โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร แต่จะลงหลักปักฐานความสุข เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของประชาชนที่เป็นเจ้าของ

“รัฐบาลไม่มีทางให้เงินเราทุกปี ดังนั้นต้องไม่ตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะให้เงินทุกปี แต่เราต้องสร้างทุนหมุนเวียนของตัวเอง เป็นตู้เอทีเอ็มของเราตลอดไป โดยไม่ต้องรอเงินจากรัฐบาล ที่สามารถเนรมิตรายได้กลับมาหาเราได้ต่อเนื่อง ความสุขของเราจะเกิดขึ้นเมื่อเรามีตู้เอทีเอ็มของตัวเอง”

ตอนหนึ่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ เล่าถึงคำถามที่มีการถามเข้ามาว่า เมื่อมีการถามว่ารัฐบาลส่งเงินให้ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มทุนให้ มีเงินจากโครงการประชารัฐ 7 หมื่นล้าน ถามว่าเราใช้เงินอย่างไร ก็ตอบไปว่าอย่างไม่อายใครทั้งโลก ว่าเงินไม่ได้ไปไหน เงินอยู่ในธนาคารธกส. ออมสิน เป็น NPL ไม่เกิน 4% และเงินยังคงอยู่ 90% จากเงินที่ได้รับเงินจากรัฐให้ต้นทุน ลบคำสบประมาทว่าเราใช้เงินไม่เป็น เรารักษาเงินไม่ได้ แต่ใน 90% มีเงินออมกว่า 5 หมื่นล้านบาท มากกว่าที่รัฐบาลให้ เงินประชารัฐที่ให้ 7 หมื่นล้านบาท ได้ผลตอบแทนกำไร 3 ปี กว่า 8,000 กว่าล้าน ไม่ได้หมด ไม่ได้หายไป อยู่ในร้านค้า น้ำดื่ม โรงสี น้ำดื่ม ลานตาก

“เราภาคภูมิใจที่เงิน 7 หมื่นล้านไม่ได้ไปไหน แต่เรามีแรงงานเพิ่มล้านกว่าคน มีเงินหมุนเวียน มีผลตอบแทนกำไรเกือบหมื่นล้าน ปิดคำสบประมาทที่ตีหัวเข้าบ้านว่าปีหนึ่งจบไปใช้เงินหมดไป”