สี่ปัจจัยที่ทำให้จีน มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำได้

25 ธ.ค. 2562 | 04:15 น.

 

วันนี้คงไม่ต้องสงสัยแล้วว่าจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีถึงขนาดที่มีการเลียนแบบบางด้านของเทคโนโลยีจีนไปในต่างประเทศ ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าจีนมีจำนวนสตาร์ตอัพระดับ unicorn แซงหน้าอเมริกาไปแล้ว และที่แน่นอน 3 อันดับแรกของ unicorn ทั่วโลกเป็นสตาร์ทอัพจีน นอกจากขนาดตลาดที่ใหญ่มากแล้ว ผู้เขียนขอสรุปปัจจัยอีก 4 ด้านที่ทำให้จีนเดินมาได้ถึงทุกวันนี้และจะเดินเร็วขึ้นจากแรงกดดันสงครามเทคโนโลยี

1) วิจัยและพัฒนาแบบเป็นระบบ - จีนเป็นชนชาตินักคิดและชอบพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตนเอง แนวโน้มที่เห็นได้ชัดก่อนหน้านี้ที่จีนยังไม่ได้มีเทคโนโลยีเป็นของตนเองมากนัก คือบริษัทผลิตสินค้าต่างๆ มักอยากที่จะสร้างเครื่องจักรในการผลิตสินค้าของตนเอง การทดแทนการนำเข้าเป็นแนวคิดหลักของทุกธุรกิจ โดยใช้ตลาดขนาดใหญ่ของจีนเป็นตัวแลกกับเทคโนโลยีต่างชาติ มาในปัจจุบัน มีหลายเทคโนโลยีที่เรียกได้ว่าเป็นของจีนเอง อาทิ เทคโนโลยีเกี่ยวกับเรื่อง 5G การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์ ระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นต้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าจีนมีการพัฒนาด้านการวิจัยอย่างไร ทำไมถึงเดินหน้าไปได้รวดเร็วขนาดนี้ 

คำตอบแรกคือเรื่องของบุคลากรด้านการวิจัย สำนักงานสถิติจีนรายงานว่าประเทศจีนมีนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่กว่า 4 ล้านคนในปี ค.ศ. 2018 ซึ่งระบุว่าเป็นจำนวนที่มากที่สุดในโลก มาดูตัวเลขอีกชุดที่ให้ภาพกว้างขึ้นจากหน่วยงาน World Economic Forum ซึ่งรายงานว่านักศึกษาที่จบในสายวิชาเทคโนโลยีหรือ STEM (sciences, technology, engineering and math) ในจีนมีจำนวน 4.7 ล้านคนในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งของจำนวนนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่ผลิตออกมาในแต่ละปี ในขณะที่อเมริกามีเพียง 568,000 คน ในด้านปัญญาประดิษฐ์ ซี่งจะกำหนดความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในอนาคตอย่างแท้จริง ผู้เขียนประมวลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ สรุปได้ว่าจีนยังมีจำนวนนักวิทยาศาสตร์ด้านนี้น้อยกว่าอเมริกา แต่มีการนำไปใช้ในวงกว้างและหลากหลายกว่า จากสัดส่วนนักศึกษาด้านเทคโนโลยีตามตัวเลขข้างต้น อีกไม่นานจีนจะตามทันอเมริกาในแง่จำนวนบุคลากรอย่างแน่นอน

สี่ปัจจัยที่ทำให้จีน  มีบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำได้

คำตอบที่ 2 คือหน่วยงานวิจัยและเงินลงทุน ผู้เขียนพบว่าไม่เพียงแต่จำนวนบุคลากรที่มีมาก ประเทศจีนมีการจัดระบบหน่วยงานด้านการวิจัยที่แยกค่อนข้างละเอียดและครอบคลุม หน่วยงานวิจัยเหล่านี้มักประกบไปกับหน่วยงานรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนชั้นนำ อาทิ สถาบัน China Academy of Railway Sciences ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการวิจัยเรื่องของระบบรถไฟความเร็วสูง มีสถานะเป็นบริษัท มีบริษัทลูกหลายสิบ มีโครงการวิจัยนับพัน วิจัยเรื่องตั้งแต่ระบบราง ระบบการเดินรถ จนไปถึงระบบสัญญาณ ฯลฯ ทั้งนี้ สถาบันวิจัยที่ซอยแยกตามอุตสาหกรรมแบบนี้ มีอยู่นับไม่ถ้วนในประเทศจีน สุดท้ายเรื่องเงินลงทุนการวิจัย สำหรับจีนแล้วมีการเติบโตเฉลี่ยปีละกว่า 20% มาโดยตลอด จนล่าสุดมีสัดส่วน 2.1% ต่อ GDP เทียบกับ 2.7% ของอเมริกา 

2) เงินทุนล้นตลาด - เงินทุนด้านการพัฒนาบริษัทสตาร์ตอัพเทคโนโลยีของจีนมีจำนวนมหาศาล โดยข้อมูลจาก Preqin แสดงให้เห็นว่าจีนและอเมริกาได้รับเงินลงทุนจากกองทุน venture capital เป็นจำนวนที่พอๆ กัน โดยเป็นเงินต่อปี ในปี ค.ศ. 2018 กว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพียง 5 ปีก่อนหน้านี้ จำนวนเม็ดเงินลงทุนที่จีนได้รับคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของอเมริกา เรียกได้ว่าจีนมีเม็ดเงินที่จะลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพแบบล้นตลาด เพราะเงินทุนในลักษณะนี้มีทั้งในส่วนของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลจากรายงาน Hurun ระบุว่าปัจจุบันมีจำนวนสตาร์ตอัพ unicorn แซงหน้าอเมริกาแล้วคือ 206 ต่อ 203 และ 3 อันดับแรกเป็นสตาร์ตอัพจีนทั้งหมด ได้แก่ Ant Financial,  Bytedance และ Didi

3) สัญชาตญาณหมาป่า - ในหนังสือ “Dedication: The Huawei Philosophy of HR Management” ผู้ก่อตั้งคุณ REN Zhengfei ได้กล่าวไว้ว่าบริษัทหัวเว่ยฯต้องพัฒนาฝูงหมาป่าที่มีความจมูกไว ความผนึกกำลัง และความทรหด และคงไม่ผิดถ้าจะใช้คำเปรียบเทียบสัญชาตญาณหมาป่านี้กับนักธุรกิจจีนอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ โดยเฉลี่ยแล้วนักธุรกิจจีนมีความหิวกระหาย มีความไว และกล้าเสี่ยง แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าพวกเขาบ้าบิ่น ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จจนมีมูลค่าระดับ unicorn มักเคยก่อตั้งบริษัทและล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง หลาย ๆ คนมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากการเชื่อมพันธมิตรทางธุรกิจได้อย่างดี บริษัทสตาร์ตอัพที่สำเร็จมักมุ่งทำ 2 สิ่งคือสร้าง ecosystem และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เป็นของตนเอง โดยใช้เงินจากกองทุน venture capital มาอุดหนุนในการสร้าง ecosystem

 

4) รัฐบาลผลักดันธุรกิจก่อนกำกับ - ที่ผ่านมารัฐบาลจีนมีแนวคิดเป็นผู้ผลักดันสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตได้ดีก่อน จึงค่อยปรับบทบาทมาเป็นผู้กำกับดูแล การดำเนินนโยบายด้านการส่งเสริมธุรกิจและด้านการกำกับดูแลค่อนข้างมีเอกภาพ อีกทั้งยังมีการกีดกันผู้เล่นต่างชาติ  อาทิ ในเรื่องการพัฒนากระเป๋าเงินอีเล็กทรอนิกส์และระบบไร้เงินสด รัฐบาลจีนได้ให้เสรีต่อการขยายตัวของธุรกิจเต็มที่จนกระทั่งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนเท่านั้น ที่เริ่มกำหนดกฎระเบียบการกำกับดูแลอย่างจริงจัง สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะเฉพาะที่อาจมีเพียงรัฐบาลจีนที่ทำได้ เนื่องจากมีตลาดภายในที่มหาศาล เป็นที่น่าดึงดูดต่อนักลงทุนและทำให้ต้นทุนต่อหน่วยตํ่า แนวคิดเกี่ยวกับการสนับสนุนธุรกิจนี้เอง ที่ทำให้เป็นที่กล่าวหาของประเทศตะวันตก ภายใต้แรงกดดันจากสงครามการค้าและเทคโนโลยี เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะยิ่งยืนหยัดกับแนวคิดนี้ต่อไป โดยธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมส่วนมากจะอยู่ในหมวดอุตสาหกรรมไฮเทค โดยเฉพาะที่โดนจำกัดจากอเมริกา

 

คอลัมน์ : ลอดลายมังกร

โดย : มาณพ เสงี่ยมบุตร 

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่  ผู้บริหารสายงาน China Business ธนาคารไทยพาณิชย์

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3534 วันที่ 26-28 ธันวาคม 2562

เกี่ยวกับผู้เขียน : 

มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน และการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี  ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง 

จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut