10เดือนยอดใช้FTA และGSP กว่า6หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

23 ธ.ค. 2562 | 06:57 น.

พาณิชย์ เผยการใช้สิทธิ FTA และ GSP 10 เดือน กว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในตลาดอาเซียนยังคงใช้ FTA มากสุด  ส่วน  GSP  สหรัฐยังคงอันดับ 1

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ รวมอยู่ที่ 60,316 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ อยู่ที่ 78.03% ลดลงที่ 2.95% สอดคล้องกับทิศทางการส่งออกที่ลดลง 2.4% ทั้งนี้ แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 55,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 4,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

10เดือนยอดใช้FTA และGSP กว่า6หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 จำนวน 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงอาเซียน-ฮ่องกงที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562) มีมูลค่า 55,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 79.59% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้าซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 70,215ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.30% โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมถึงปัจจัยด้านค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ในภาพรวมจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาแต่ยังมีตลาดศักยภาพที่มีการขยายตัวของอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ได้แก่ 1. เปรู ขยายตัวดีที่ 28.10% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ถุงมือใช้ในทางศัลยกรรม เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องครัว เป็นต้น 2. จีน ขยายตัวที่ 3.77% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง เป็นต้น และ 3. ญี่ปุ่น ขยายตัวที่ 0.11% มีการส่งออกเพิ่มขึ้นในสินค้า เช่น ปลาแมคเคอเรล ไก่ปรุงแต่ง กุ้งปรุงแต่ง เป็นต้น สำหรับตลาดที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ อาเซียน ลดลง 7.02% ออสเตรเลีย ลดลง 13.98% ชิลี ลดลง 28.77%อินเดีย ลดลง 1.75% และเกาหลี ลดลง 5.82%

10เดือนยอดใช้FTA และGSP กว่า6หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง FTA สูงสุด 5 อันดับแรกยังคงเป็น อาเซียน มูลค่า 20,836 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   จีน มูลค่า 15,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ออสเตรเลีย มูลค่า 6,743 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  ญี่ปุ่น มูลค่า 6,347 ล้านดอลลาลร์สหรัฐฯ และ อินเดีย มูลค่า 3,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  กรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่1. อาเซียน-จีน 2. ไทย-ชิลี 3. ไทย-เปรู 4. ไทย-ญี่ปุ่น  และ5. อาเซียน-เกาหลี และรายการสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์บรรทุก ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ผลไม้ประเภทฝรั่ง มะม่วง และมังคุดสดหรือแห้ง และน้ำตาลจากอ้อย

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 ไทยยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP จำนวน 4 ระบบ คือ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ โดยมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบ GSP 10 เดือนแรกอยู่ที่ 4,431 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 62.51% ของมูลค่าการส่งออกรวมในรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์

สำหรับ 10 เดือนแรกของปี 2562 ตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิอยู่ที่ 4,029 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราการใช้สิทธิฯ 66.96% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิฯ ซึ่งมีมูลค่า 6,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา 11.57% ถัดมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 262 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 35.02% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 749 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 1.55%

10เดือนยอดใช้FTA และGSP กว่า6หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

ส่วนรัสเซียและเครือรัฐ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 79.97% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 148 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 14.08% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ อยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอัตราการใช้สิทธิฯ ที่ 86.75% ของมูลค่าการส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งมีมูลค่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ 17.54% สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ระบบ GSP สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยางอื่นๆ อาหารปรุงแต่งอื่นๆ น้ำผลไม้ และเลนส์แว่นตา