วอนรัฐใช้โอกาสต่อสายน้ำเกลือช่วยกลุ่มเหล็ก!

22 ธ.ค. 2562 | 23:00 น.

 

 

กลุ่มเหล็กหวั่นผู้ประกอบการไทยเสียโอกาส วอนรัฐเร่งดันเหล็กไทยใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ  เผยต้องระบุให้ชัดการใช้ Local Content  สำหรับงานโครงการภาครัฐ   ควรมีสัดส่วน 90% ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมด 

 

 

นายธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์ กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ขณะนี้ผู้ผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ มองเห็นโอกาสในการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศที่ประสบภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจและการแข่งขันที่รุนแรง  โดยมองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง  รถไฟทางคู่  โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ภาครัฐบาลต้องช่วยสนับสนุนการใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวด และเหล็กชนิดต่างๆที่เกี่ยวกับงานก่อสร้างดังกล่าวที่ผลิตในประเทศ เนื่องจากเวลานี้ผู้ประกอบการตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มมีการนำเข้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต  เกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้นำเข้า

วอนรัฐใช้โอกาสต่อสายน้ำเกลือช่วยกลุ่มเหล็ก!

ธีรยุทธ เลิศศิรรังสรรค์

กรรมการสมาคมผู้ผลิตเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการผลิตเหล็กเส้นก่อสร้างในประเทศรวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 12-13 ล้านตัน  แต่ผลิตขายได้จริงทั้งชนิดที่มีเตาหลอมและไม่มีเตาหลอมเพียง 3 ล้านตัน  ทำให้กำลังการผลิตยังล้นตลาดอยู่จำนวนมาก ซึ่งตรงนี้ก่อนหน้านั้นจึงมีการขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมระงับการตั้งใหม่และขยายกิจการชั่วคราว

วอนรัฐใช้โอกาสต่อสายน้ำเกลือช่วยกลุ่มเหล็ก!

“ขณะนี้สิ่งที่กังวลคือ  เกรงว่าจะมีการนำเข้ามาตีตลาดปัจจุบันที่ขายได้เพียง 3 ล้านตัน  และมองว่าการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะต้องใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตทั้งโครงการจำนวน 2.6 ล้านตันในระยะเวลา 10-15 ปี  และเวลานี้การลงทุนโครงการดังกล่าวจีนก็เป็นผู้กำหนดว่าจะต้องใช้เหล็กที่เป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้างที่อ้างอิงตามมาตรฐานจีน ในฐานะที่จีนเป็นเจ้าของเทคโนโลยี  ซึ่งเหล็กไทยก็ใช้ได้แต่ต้องผ่านมาตรฐานของจีน โดยใช้มอก.ไทยได้ ซึ่ง 3 ล้านตันที่ขายอยู่ในเวลานี้ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกแย่งตลาดจากการนำเข้าที่เริ่มมีเข้ามาแล้วจากมาเลเซีย และเวียดนาม”

 

นายธีรยุทธ มองอีกว่าในส่วนนี้ถ้ารัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนให้ใช้เหล็กของไทย โอกาสที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทยก็จะยากขึ้น  ดังนั้นรัฐบาลควรจะกำหนดโดยระบุให้ชัดเจนว่า การใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content)  สำหรับงานโครงการภาครัฐ   ควรมีสัดส่วน 90% ของมูลค่าวัตถุดิบที่ใช้ทั้งหมด  โดยวัตถุดิบดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่แรงงานไทย พลังงาน เหล็ก และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตรงนี้หากไม่มีการระบุถึงให้ชัดเจน เกรงว่าโอกาสที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งการใช้เหล็ก 2.6 ล้านตันจะไม่ได้รับโอกาสด้วย  และมองว่าน่าจะเป็นทางออกสำคัญที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กในขณะนี้ได้  ส่วนอีกสัดส่วน 10%  เป็นการนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้าที่ไทยไม่สามารถผลิตได้หรือยังไม่มีจำหน่ายในประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนของรัฐด้านก่อสร้างรถไฟทางคู่ ที่จะต้องใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กชนิดอื่นๆอีกราว 2.5 ล้านตันในระยะ10-15ปี  ดังนั้นถ้าเรามีนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content)  สำหรับงานโครงการภาครัฐ  ก็จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศได้

วอนรัฐใช้โอกาสต่อสายน้ำเกลือช่วยกลุ่มเหล็ก!

ก่อนหน้านั้น 4 สมาคมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กไทย  ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมเหล็กไทย ,สมาคมการค้าเหล็กลวดไทย , สมาคมการค้าเหล็กทรงยาวมาตรฐาน ,สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า  ได้ยื่นหนังสือต่อ นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดนโยบายสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศ (Local Content)  สำหรับงานโครงการภาครัฐ   เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง–สุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา  โครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค  โครงการรถไฟฟ้า  โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ฯลฯ  รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน   และโครงการที่รัฐให้สัมปทาน   ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลี และอินโดนีเซีย ได้มีการดำเนินนโยบายดังกล่าวแล้ว

 

ทั้งนี้ 4 สมาคมผู้ผลิตเหล็ก ได้เสนอมาตรการในการแก้ไขวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดในประเทศไทยในการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐใน  2 ประเด็นหลัก  ได้แก่ 1.พิจารณากำหนดสัดส่วนการใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่ผลิตได้ในประเทศสำหรับงานโครงการภาครัฐ  (นับตั้งแต่วัตถุดิบขั้นต้น  วัตถุขั้นกลาง  สินค้าสำเร็จรูป  หากมีผู้ผลิตในประเทศ)  2. พิจารณาใช้สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตและเหล็กลวดที่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของประเทศไทยสำหรับงานโครงการภาครัฐ