รัสเซียถก “ภาษาอังกฤษ” จำเป็นไหมในสอบพื้นฐาน?

22 ธ.ค. 2562 | 00:59 น.

คอลัมน์ หลังกล้องไซบีเรีย : รัสเซียถก “ภาษาอังกฤษ” จำเป็นไหมในสอบพื้นฐาน?

 

ลองนึกย้อนกลับไปถึงสมัยเรียนที่ต้องนั่งอ่านหนังสืออย่างเคร่งเครียดเพื่อเข้าทดสอบระดับชาติสารพัดรูปแบบ วิชาใดที่คุณคิดว่ายากที่สุดในการเตรียมตัว?

ภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาไทยมาช้านานจนได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งในวิชาหลักของการสอบพื้นฐาน และเชื่อว่า วิชานี้น่าจะเป็นหนึ่งในยาขมสำหรับนักเรียนหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทดสอบเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาษาอังกฤษมักถูกนับคะแนนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

ทว่าในอีกมุมหนึ่ง คุณคิดว่าเราควรให้น้ำหนักกับวิชาภาษาต่างประเทศเท่าไหร่ในระบบการศึกษาไทย?

ที่รัสเซีย ประเด็นเรื่องความจำเป็นของข้อสอบวิชาภาษาต่างประเทศในการสอบความรู้พื้นฐาน (Unified State Exam) กำลังถูกยกมาถกเถียงกันในแวดวงการศึกษา และมีการเรียกร้องให้ถอดวิชานี้ออกไปในการสอบปี 2565

วิชาภาษาต่างประเทศถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน 11 วิชาหลักของการทดสอบพื้นฐาน Unified State Exam ของรัสเซีย ซึ่งนักเรียนสามารถเลือกสอบได้ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และล่าสุดเพิ่งบรรจุภาษาจีนในการทดสอบปีนี้ โดยมีภาษาอังกฤษเป็นตัวเลือกในการสอบหลักของนักเรียนมากกว่า 90% ในแต่ละปี

 

รัสเซียถก “ภาษาอังกฤษ” จำเป็นไหมในสอบพื้นฐาน?

 

ฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องชี้ว่า ปัจจุบันโรงเรียนหลายๆ แห่งในรัสเซียยังขาดวิสัยทัศน์และนโยบายที่ดีเกี่ยวกับการจัดหาครูสอนภาษาต่างประเทศ การยกเลิกการสอบภาษาต่างประเทศในการสอบพื้นฐานจะทำให้โรงเรียนสามารถนำงบประมาณไปบริหารด้านอื่น เช่นเพิ่มงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่จำเป็นแทนได้ ซ้ำโรงเรียนในรัสเซียยังคงขาดแคลนครูอยู่ราวร้อยละ 15 และอัตราที่ต้องการมาเติมเต็มในสถิตินี้ ส่วนมากคือครูภาษาต่างประเทศ

เพื่อจะสอบให้ผ่านเกณฑ์ของวิชาภาษาต่างประเทศใน Unified State Exam นักเรียนรัสเซียจะต้องมีทักษะภาษานั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ที่พูดถ่ายทอดความคิดของตัวเองได้ สื่อสารได้ ไม่ใช่แค่ในระดับการสื่อสารในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่รวมถึงการถกเถียงในหัวข้อเฉพาะด้วย โดยจากสถิติที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กนักเรียนรัสเซียเพียง 6% ในชั้นเกรด 9 (เทียบเท่า O-NET ชั้นม.3) สอบผ่านเกณฑ์วิชาภาษาต่างประเทศเพียง 6% และในเกรด 11 (เทียบเท่า O-NET ชั้นม.6) มีเพียง 10% เท่านั้น

ขณะเดียวกัน เด็กบางส่วนเองก็ไม่ได้มีแรงผลักดันในการเรียนภาษาต่างประเทศมากมาย เนื่องจากเห็นว่าเป็นทักษะที่ไกลตัว โรงเรียนราว 60% ของรัสเซีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท นักเรียนส่วนใหญ่แทบไม่ได้สัมผัส หรือใช้ภาษาต่างประเทศในชีวิตประจำวันเลยเสียด้วยซ้ำ การสอบภาษาต่างประเทศอาจยิ่งเป็นการปิดโอกาสเด็กนักเรียนจากชนบทที่จะได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ

 

รัสเซียถก “ภาษาอังกฤษ” จำเป็นไหมในสอบพื้นฐาน?

ย้อนกลับมาดูที่ไทย ภาพรวมคงดูไม่ต่างกันมากเท่าไหร่นัก จากสถิติที่ผ่านมาของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ช่วงปีการศึกษา 2557-2560 ค่าเฉลี่ยคะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษของทุกช่วงชั้น (ป.6 ม.3 และม.6) อยู่ที่ราว 20-40 คะแนนเท่านั้น

ด้วยเกณฑ์การให้น้ำหนักรายวิชาขณะนี้ ทำให้หากนักเรียนคนหนึ่งมีทักษะด้านอื่นสูง แต่ไม่คล่องแคล่วภาษาอังกฤษอาจมีโอกาสคว้าโควตามหาวิทยาลัยที่ใฝ่ฝันได้น้อยกว่ากลุ่มนักเรียนที่ชำนาญภาษาอังกฤษมากกว่า ซ้ำอาจเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยความแตกต่างของเงื่อนไขการบริหารจัดการมาตรฐานการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่ละแห่ง หากต้องการเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษอาจต้องลงทุนเพิ่มเติมด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวของนักเรียนในอีกทางด้วย

แน่นอนว่าการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศคือทักษะที่สำคัญของโลกยุคนี้ แต่ก็เป็นคำถามที่น่าสนใจว่าระบบการศึกษาของเราพร้อมจริงหรือไม่ที่นำทักษะภาษาต่างประเทศเช่นภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นหนึ่งในเกณฑ์หลักกำหนดความรู้ความสามารถพื้นฐานของนักเรียนซึ่งมีความหลากหลายทั่วประเทศ?

 

เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์

ภาพ: RIA Novosti / Pavel Lisizyn