ปรับมายด์เซตสู่การเรียนรู้ เส้นทางพัฒนาตัวเองและสตาร์ตอัพไทย

21 ธ.ค. 2562 | 05:25 น.

"สตาร์ตอัพ” คนส่วนใหญ่จะนิยามว่า เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ Pain Point ต่างๆ แต่สำหรับ “วรวุฒิ วรศิริกมล” ผู้จัดการทั่วไป (GM) และ ผู้ร่วมก่อตั้ง Lendela ประเทศไทย บอกว่าสตาร์ตอัพในความหมายของเขาคือ กระบวนการที่จะเข้าไปสู่เป้าหมายที่เราต้องการได้อย่างรวดเร็ว

  ...แล้วที่ผมชอบคือ ความไม่มีกฎเกณฑ์ อยากได้ผลลัพธ์แบบนี้ ทำอย่างไรได้บ้าง สตาร์ตอัพคือ การทำงาน ที่ลองไปด้วย แล้วลอนซ์ไปด้วย...มันคือ กระบวนการ ส่วนเทคโนโลยี คือหนึ่งในกระบวนการ

คนหนุ่มวัย 32 ปี ผู้นี้ เคยก่อตั้งบริษัทการทำตลาดดิจิทัลมาตั้งแต่ตอนเรียนชั้นปี 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยทำการตลาดให้บริษัทข้ามชาติ 4 บริษัท และเคยได้รับตำแหน่งบริหารมามากกว่า 6 ปี ดูแลธุรกิจทั้งแบบ B2C และ B2B เช่น 30Secondstofly (สร้างปัญญาประดิษฐ์“A.I.” ให้กับนักเดินทางแบบธุรกิจ) เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารดูแลธุรกิจขนส่งอาหารของ บริษัท honestbee และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการธุรกิจและฝ่ายขายให้กับ เอเยนซีการตลาดดิจิทัลของ North Star Digital

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาได้เข้าไปเป็น Co-Founder ของ Lendela (เลนเดล่า) ผู้ให้บริการด้านสินเชื่อผ่านแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อผู้บริโภคกับพันธมิตรธนาคาร และผู้ให้สินเชื่อ เป็นการเพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงแหล่งสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็ส่งมอบลูกค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ให้แก่พันธมิตรธนาคารและผู้ให้สินเชื่อ

ปรับมายด์เซตสู่การเรียนรู้ เส้นทางพัฒนาตัวเองและสตาร์ตอัพไทย

 

การเข้าร่วมงานกับเลนเดล่า คือส่วนหนึ่งของการสนองตอบ เป้าหมายที่เขาเซตขึ้น เพื่อคุณค่าของชีวิตในแบบที่เขาต้องการ เป้าหมายของเขาไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่เป็นการมองไกลไประดับภูมิภาค ซึ่งเลนเดล่าตอบโจทย์ ทั้งความเป็นสตาร์ตอัพที่คิดเร็วทำเร็ว มีเทคโนโลยีมาทำหน้าที่ขับเคลื่อน และยังได้เข้าไปมีส่วนในการวางกลยุทธ์และเชื่อมต่อธุรกิจทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง

 

“เราสนใจสตาร์ตอัพอยู่แล้ว มีประสบการณ์กับสตาร์ตอัพที่เริ่มต้นตั้งแต่ตั้งไข่ เลนเดล่า ต้องการเซตทีมเขาที่ไทย และอยากเข้ามาลงทุน ผมก็เลยกระโดดเข้าไปทำกับนักลงทุนฝั่งยุโรปและที่อเมริกา เขาก็ชอบเราในเชิงที่บู๊ ไม่เกี่ยงงาน ทำยิ่งกว่าผู้ก่อตั้งเสียอีก ตี 3 ผมยังนั่งทำงานอยู่ออฟฟิศ โต้ตอบกับทางอเมริกาและยุโรป”

“วรวุฒิ” บอกว่า งานนี้มันคือความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการทำงานที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับนโยบายด้านการเงิน และที่ท้าทายยิ่งขึ้น คือ ไทยมีความต้องการด้านสินเชื่อสูง แต่กระบวนการเยอะ ยุ่งยาก และจำนวนผู้ผ่านเกณฑ์ประเมินก็ยาก

สำหรับเลนเดล่า ถือเป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่าง ด้วยความพยายามที่จะลดขั้นตอน ลดความยุ่งยาก เพื่อทำให้ทั้งผู้ขอสินเชื่อ และผู้ปล่อยสินเชื่อ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการลงได้ ผ่านเทคโนโลยีและระบบออนไลน์

ในปีหน้า โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 1-2 ความท้าทายจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก เมื่อระบบการยืนยันตัวตนผ่านออนไลน์ หรือ digital identity (NDID) ซึ่งรัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแผนที่จะปรับตัวให้เข้ากับกฎระเบียบที่เป็นมิตรกับฟินเทค เหมือนกับ MAS Sandbox ของสิงคโปร์ แต่รายละเอียดและวิธีการใช้งานจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูในปีหน้า

กระบวนการทำงานที่ยุ่งยาก แต่เต็มไปด้วยความท้าทาย คือเสน่ห์ที่ทำให้นักบริหารหนุ่มผู้นี้สนุก สนุกทั้งการเรียนรู้ สนุกทั้งการแก้ปัญหา

“เราต้องพยายามลองผิดลองถูก ผมว่าชีวิตมนุษย์คนเราค่อนข้างสั้น อยู่ได้ 50-60 ปี เพราะฉะนั้นก่อนตาย ไม่อยากใช้ชีวิตแบบที่เราเสียใจ ว่าทำไมไม่ได้ลองทำโน้นนี่นั่น”

การลองผิดลองถูก และการแก้ปัญหาของ “วรวุฒิ” ไม่ได้ทำด้วยความคึกคะนอง แต่ทำด้วยการไตร่ตรอง มองจากข้างบนด้วยความเข้าใจโครงสร้างจริงๆ โครงสร้างมันมีหลายอย่าง ....มันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนี้เราอยู่ในสภาพหรือกฎของโลกที่เป็นอย่างไร และเราอยากให้มันออกมาเป็นอย่างไร

ชายหนุ่มคนนี้บอกว่า เขาดร็อปเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาการเงินการลงทุน ไปตั้งแต่ปี 3 เพราะต้องการลุยทำธุรกิจของเขาอย่างเต็มที่ในตอนนั้น แต่การเรียน หรือการหาความรู้ ไม่ใช่เรื่องยาก ทุกอย่างมีให้หมดในโลกออนไลน์ และเขาเชื่อว่า การเรียนรู้จากการลงมือทำจริง ลองผิดลองถูก มันเป็นความรู้และประสบการณ์ที่ไม่มีสอนในตำรา

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เขาทำ คือการสร้างพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ ที่ใฝ่เรียนรู้เติมเต็มทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอและนั่นคือคีย์แห่งความสำเร็จ ของนักธุรกิจยุคมิลเลนเนียล (Millennials)

หน้า 22-23 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,532 วันที่ 19 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปรับมายด์เซตสู่การเรียนรู้ เส้นทางพัฒนาตัวเองและสตาร์ตอัพไทย