มหากาพย์รัฐสภา 7ชั่วโคตรสร้างไม่เสร็จ สัญญาต่อแล้วต่ออีก

12 ธันวาคม 2562

 

หนังสือ “ด่วนที่สุด” จาก “นายสรศักดิ์ เพียรเวช” เลขาธิการสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ที่ “สผ.(บรส.) ๐๐๐๕/๓๒” ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็น “รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประจำเดือนตุลาคม 2562” เป็นการรายงานล่าสุดของโครงการก่อสร้างฯ ความยาวทั้งหมด 26 หน้า ตามที่สำนักเลขาธิการสภาฯ ต้องรายงานต่อ มท.1 ทุกเดือน เพื่อนำเสนอรายงานนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทุกเดือนเช่นกัน

ในรายงานระบุระยะเวลาตามสัญญารวม 2,382 วัน ดำเนินการมาแล้วถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2562 จำนวน 2,306 วัน คงเหลือระยะเวลาก่อสร้างอีก 45 วัน ผลงานที่ผู้รับจ้างทำได้ 69.8% หรือเพิ่มขึ้นมา 1.55% ของเดือนที่แล้ว นั่นเท่ากับว่า ณ เวลานี้ วันที่ 15 ธันวาคม 2562 คือวันสุดท้ายของระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา แต่ทว่าการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ 100%

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลการก่อสร้างโครงการนี้พบว่า ตามรายงานต่อที่ประชุมครม. วันที่ 23 เมษายน 2556 ระบุว่า โครงการนี้สำนักงบประมาณเห็นชอบราคาค่าก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ในวงเงินรวม 12,280 ล้านบาท ตามผลประกวดราคาที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเสนอ สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 2,236,311,400 บาท ที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีจากกระทรวงการคลังแล้ว และงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 อีกจำนวน 804,708,600 บาท ส่วนที่เหลือผูกพันงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557-2559 จำนวน 9,238,989,000 บาท

“ทั้งนี้ การดำเนินโครงการก่อสร้างฯ ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและครบถ้วน โดยอนุมัติให้ขยายเวลาดำเนินการถึงปีงบประมาณ 2559 เนื่องจากผลการดำเนินงานโครงการก่อสร้างฯ ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม และระยะเวลาในการดำเนินงานก่อสร้าง 900 วัน”

 

ปรากฏว่าเมื่อครบ 900 วัน ตามสัญญาหลัก การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ขยายเวลาของสัญญาออกมาแล้วถึง 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 ขยายเวลาจำนวน 387 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2558-15 ธันวาคม 2559 โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการฯ ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า และปัญหาอุปสรรคในการขนดินที่ขุดจากการก่อสร้างเสาเข็มเจาะออกไปเก็บไว้นอกโครงการก่อสร้าง

ครั้งที่ 2 ขยายเวลาจำนวน 421 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559-9 กุมภาพันธ์ 2561 เหตุผลของรอบนี้คือ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีความล่าช้าในการขนย้ายดินที่ขุดเพื่อการก่อสร้างชั้นใต้ดิน

และครั้งที่ 3 ขยายอีกจำนวน 674 วัน คือนับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561-15 ธันวาคม 2562 เหตุผลรอบนี้คือ เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ มีความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่บริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ดุสิต และศูนย์สาธารณสุข 38 ของกรุงเทพมหานคร ชุมชนบ้านพักองค์การทอผ้า และบ้านพักข้าราชการกรมการอุตสาหกรรมทหาร

 

มหากาพย์รัฐสภา  7ชั่วโคตรสร้างไม่เสร็จ สัญญาต่อแล้วต่ออีก

 

ขณะเดียวกันมติครม.วันที่ 21 สิงหาคม 2561 ยังอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณงานนอกสัญญาหลักอีกจำนวน 4,812,617,700 บาท ผูกพันงบปี 2562-2563

นั่นเท่ากับว่า ขยายเวลาก่อสร้างแล้ว 3 ครั้ง รวม 1,482 วัน เมื่อนำไปรวมกับระยะก่อสร้างเวลา 900 วัน ตามสัญญาตอนแรก รวมแล้วใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2,382 วัน หรือประมาณ 6 ปีครึ่ง และกำลังมีการขยายเวลาครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน จากที่ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ขอขยายเวลา 502 วัน แต่คณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาอีก 382 วัน ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ จะใช้เวลาในการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ยาวนานถึงเกือบ 8 ปี

และการขยายสัญญาทั้ง 3 ครั้ง พบว่ามีความพยายามอ้างเหตุผลให้เข้าเงื่อนไขในสัญญาที่เลี่ยงการจ่ายค่าปรับของผู้รับจ้าง คือการปรับจะเกิดขึ้นเมื่อ “อันเนื่องมาจากความผิด หรือความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง” ซึ่งต้องแจ้งเหตุผลภายใน 15 วัน

 

ส่วนเหตุผลของการขอขยายระยะเวลาสัญญารอบที่ 4 ระบุในรายงาน ในหน้า 24 ว่า “ข้อ 3 ปัญหา อุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหา” 3.1 ระบุว่า แบบรูปและรายละเอียดที่ผู้ออกแบบ (สงบ ๑๐๕๑) ส่งมอบให้สํานักงานสภาฯ นั้น มีจํานวนแบบและรายละเอียดมาก จึงทําให้แบบรูปและรายละเอียดขัดแย้งกัน หรือแบบไม่สมบูรณ์ เช่น งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบปรับอากาศ งานระบบสุขาภิบาล เป็นต้น

จากนั้นก็เป็นการอธิบายแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น หนึ่งในนั้นคือการเพิ่มจำนวนแรงงานและเวลาในการทำงาน

“หากในเดือนถัดไป ผู้ รับจ้างคงมีจํานวนแรงงานเฉลี่ยต่อวัน ประมาณ 4,500-4,800 คน ก็สามารถดําเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่จะขยายระยะเวลาออกไปเป็นครั้งที่ 4 ภายในปี 2563”

โครงการอาคารรัฐสภาใหม่ กว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลาเกือบ 8 ปี จากเดิมตามสัญญาใช้เวลาแค่ 900 วัน และยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายสัญญาออกไปอีกเป็นรอบที่ 5 ในอนาคตหรือไม่

หากไม่เรียกว่า “รัฐสภาใหม่ 7 ชั่วโคตร” แล้วจะให้เรียกว่าอะไร? 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3530 หน้า 14 วันที่ 12 -14 ธันวาคม 2562