“ปารีณา”ปะทะ“เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง

13 พ.ย. 2562 | 06:09 น.

ประเดิมรอยร้าวนัดแรก “ปารีณา” ปะทะ “เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง   “กมธ.หน้าใหม่”เตือนจะติดคุก หลังใช้อำนาจบังคับ “ประยุทธ์-ประวิตร”แจงกมธ.  ด้าน “เสรีพิศุทธ์” สวนอย่าขู่ผม พร้อมเตือนให้มีมารยาท 

  “ปารีณา”ปะทะ“เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง

      วันที่ 13 พ.ย. 2562  ที่รัฐสภา  ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค เสรีรวมไทย เป็นประธานกมธ. มีวาระพิจารณาเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ชี้แจงต่อประเด็นการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2563 โดยไม่ชอบ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว นายกฯ ได้ส่งพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นตัวแทนชี้แจง ขณะที่รองนายกฯ ได้ส่งนายประสาร หวังรัตนปราณี คณะทำงาน เป็นตัวแทนชี้แจง

 

      ทั้งนี้พล.อ.ชาญชัย และนายประสาน ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าชี้แจง ในเนื้อหาเดียวกันว่าเป็นตัวแทนมาชี้แจงต่อกมธ.ตามที่มีหนังสือและได้นำหนังสือชี้แจงของนายกฯ และรองนายกฯ ที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพิ่มเติมมามอบให้กับกมธ.ด้วย  อย่างไรก็ตามมีเพียง 2 ประเด็นที่จะชี้แจงตามที่ได้รับมอบหมาย คือ การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563 ที่ถูกท้วงติงว่าไม่ชอบนั้น ข้อเท็จจริง ได้ปฏิบัติตามกรอบของวิธีเสนองบประมาณ ส่วนการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นเป็นไปตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

  “ปารีณา”ปะทะ“เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง

     ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมกมธ.ฯ ในวาระดังกล่าว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้พล.อ.ชาญชัย และนายประสาน มอบหนังสือชี้แจง ซึ่งลงลายมือชื่อของพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ต่อหน้าที่ประชุมกมธ.และให้ชี้แจงรายละเอียดสั้นๆ ก่อนที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ จะกล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่สามารถให้บุคคลอื่นมาชี้แจงแทนบุคคลที่ระบุชื่อให้มาชี้แจงได้ พร้อมยกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรคสี่ ระบุว่า กมธ.มีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคล หรือเรียกบุคคลมาชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนั้นกมธ. ไม่สามารถรับฟังคำชี้แจงจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ที่เชิญชี้แจงได้ เพราะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้ถูกเชิญชี้แจงและกมธ.ฯ ทั้งนี้บุคคลที่เชิญ ระบุชื่อไว้ชัดเจนด้วย ดังนั้นตนจะขอมติจากที่ประชุมต่อการพิจารณาเรื่องดังกล่าว 

 

  “ปารีณา”ปะทะ“เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง

      ทั้งนี้พล.อ.ชาญชัย ชี้แจงตอนหนึ่งด้วยว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสองบัญญัติให้การทำหน้าที่ของกมธ. ต้องอยู่ในหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุไว้ ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาฯ พ.ศ.2562 ข้อ90 (22) ระบุว่ากมธ.ฯ ต้องสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการ และมาตรการป้องกันและการปราบปรามการทุจริต ซึ่งประเด็นการเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ขณะที่ผ่านวาระแรกแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระสอง ซึ่งเป็นไปตามกรอบการจัดทำงบประมาณ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของการประพฤติมิชอบ และไม่อยู่ในอำนาจของกมธ.ที่ระบุไว้ในข้อบังคับ ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวโต้แย้งว่าเรื่องตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของกมธ. ไม่เช่นนั้นจะเรียกคนมาชี้แจงทำไม

 

     ผู้สื่อข่าวรายงานถึงบรรยากาศการพิจารณาด้วยว่า การประชุมดังกล่าวเป็นครั้งแรกที่น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐและ นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลัง ประชารัฐ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกมธ. แทนตำแหน่งที่ว่าง เข้าร่วมประชุม โดยตอนหนึ่งที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้ความเห็นต่อการไม่ยอมรับคำชี้แจงของพล.อ.ชาญชัย และนายประสาน และต้องการให พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร มาชี้แจงต่อกมธ. ด้วยตนเอง น.ส.ปารีณา ขอแสดงความเห็น แต่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวขึ้นว่าขอให้รู้มารยาท เพราะประธานยังไม่เชิญให้พูด ทั้งนี้ขอให้พิจารณา เพราะก่อนหน้านี้ตนมอบหมายงานให้ทำแต่ยังไม่ยอมรับเลย ก่อนจะเรียกให้ น.ส.ปารีณา แสดงความเห็นภายหลังจากที่รับฟังข้อชี้แจงของตัวแทนผู้ถูกเชิญชี้แจงแล้วเสร็จ

  “ปารีณา”ปะทะ“เสรีพิสุทธ์” กลางวงกมธ.ปราบโกง

     ด้านน.ส.ปารีณา กล่าวว่า กรณีที่ประธานกมธ.ฯ เหมือนใช้อำนาจบังคับบุคคลให้มาชี้แจง ทั้งที่เป็นการขอความร่วมมือและมาโดยสมัครใจ ถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่ผ่านมา สภาเคยเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯมาชี้แจงยังไม่เคยมา ดังนั้นการใช้อำนาจบังคับบุคคลอาจผิดกฎหมายได้ และประธานกมธ.ฯ อาจต้องติดคุก ทำให้พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวว่า “ขู่ผมเหรอ ผมเรียนกฎหมายมา” ก่อนที่จะให้กมธ.ฯ คนอื่นแสดงความเห็น ซึ่งมีผู้เสนอให้การพิจารณาต่อไปของกมธ.ฯ เป็นการประชุมภายในของกมธ.ฯ ทำให้ต้องเชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมถึง พล.อ.ชาญชัย และ นายประสาน ออกจากห้องประชุม

 

     จากนั้นนายประสาน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อประเด็นที่กมธ.ฯ ไม่ยอมรับฟังคำชี้แจงแทนและต้องการฟังข้อเท็จจริงจากนายกฯ และ รองนายกฯ เท่านั้นว่า เรื่องดังกล่าว ได้ศึกษาข้อกฎหมายเพื่อเตรียมการไว้แล้ว โดยเฉพาะหน้าที่และอำนาจของกมธ.ฯ ที่กำหนดไว้ในหมวด5 ข้อ 90 (22) ที่ระบุว่ากมธ.ฯ ต้องพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ซึ่งเรื่องที่กมธ.ฯ เรียกนั้นไม่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ ส่วนกรณีที่กมธ. เตรียมใช้อำนาจตามกฎหมายคำสั่งเรียก เรียกให้ พล.อ.ประวิตร และพล.อ.ประยุทธ์ มาชี้แจง ซึ่งหากไม่มาจะมีผลต่อการดำเนินคดีอาญา นั้น หากจะใช้อำนาจตามกฎหมายคำสั่งเรียก พ.ศ.2554 สามารถทำได้ แต่ต้องระวังด้วยว่าอาจถูกฟ้องร้องเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้เช่นกัน 

 

     “พล.อ.ประวิตร พร้อมให้ความร่วมมือแต่ที่ไม่มาชี้แจงใน 2 ครั้งของการประชุมได้ เพราะมีภาระกิจจำนวนมาก และทั้ง 2 ครั้งไม่เคยขอเลื่อน เพราะมอบหมายให้ผมมาชี้แจงพร้อมเอกสาร ซึ่งพล.อ.ประวิตร ต้องการให้กมธ.ฯ ตั้งคำถามเป็นประเด็นแยกรายข้อให้ชัดเจน โดยผมบอกกับกมธ.ฯ ไปแล้ว” นายประสาน กล่าว