หวั่นเทรดวอร์ มะกัน-อียู ทำโลกป่วน จับตาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ พ.ย.นี้

02 พ.ย. 2562 | 09:00 น.

ข้อมูลจาก สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ อเมริกา (ยูเอสทีอาร์) ชี้ว่า ในปีที่ผ่านมา (2561) สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (อียู) คิดเป็นมูลค่า 683,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่นำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 557,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกนั้น (รวมทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ) สหรัฐฯส่งออกไปยังตลาดอียู คิดเป็นมูลค่า 574,500 ล้านดอลลาร์ แต่ส่งออกไปยังตลาดจีนเพียง 179,200 ล้านดอลลาร์ จะเห็นได้ว่า อียูเป็นคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งในการแง่การนำเข้าและส่งออก และหากสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเปิดศึกการค้ากับอียูอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผลกระทบจะรุนแรงยิ่งกว่าสงครามการค้าที่สหรัฐฯ มีกับจีนหลายเท่า

 ไม่เพียงเท่านั้น ศึกการค้ากับอียูยังน่าจะทำให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายสูญเสียได้มากกว่า ทั้งนี้ เนื่องจากมูลค่าการค้าที่มีระหว่างกันชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ และอียูเป็นคู่ค้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (เมื่อมองอียูเป็นกลุ่มตลาดร่วมเดียวกัน) มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ และอียูเมื่อรวมทั้งการค้าสินค้าและบริการเข้าด้วยกันนั้น มากกว่ามูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนถึง 70% (ข้อมูล ณ ปี 2561)

 ตลอดเวลาที่สหรัฐฯ เปิดศึกเผชิญหน้าทางการค้ากับจีนและโต้ตอบกันด้วยการตั้งกำแพงภาษีมาโดยตลอดนั้น ในแนวรบด้านอียู สหรัฐฯ ก็ไม่ว่างเว้นการขู่คุกคาม โดยในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว สหรัฐฯ เปิดฉากด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากอียู (รวมทั้งคู่ค้าอีกหลายประเทศ) ทำให้อียูตอกกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ หลายรายการในอัตราเพิ่ม 25% คิดเป็นวงเงินรวมถึง 2,800 ล้านดอลลาร์

 นอกจากนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่รัฐบาลของทั้ง 2 ฝ่ายต่างให้เงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตอากาศยานของตัวเอง โดยฝ่ายสหรัฐฯ ให้การอุดหนุนบริษัท โบอิ้งฯ และฝ่ายอียูให้การอุดหนุนบริษัท แอร์บัสฯ โดยกรณีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องฟ้องร้อง

 

ในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) โดยต่างกล่าวหาว่าการอุดหนุนของฝ่ายตรงข้ามส่งผลสร้างความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมให้กับอุตสาหกรรมภาย

ในประเทศของตนเอง คณะอนุญาโตตุลาการของดับบลิวทีโอตัดสิน (โดยแยกพิจารณา และแยกตัดสินต่างวาระกัน) ให้ทั้งสหรัฐฯ และอียู สามารถเก็บภาษีสินค้าส่งออกจากกันและกัน เพื่อลดผลกระทบและเป็นการชดเชยความเสียหายจากมาตรการให้เงินอุดหนุนของอีกฝ่าย ประเด็นดังกล่าวทำให้ทั้งสหรัฐฯ และอียู ต่างตั้งป้อม จ้องจะตั้งกำแพงภาษีใส่กันและกัน สร้างบรรยากาศที่คุกรุ่นของการเผชิญหน้า

 แต่สิ่งที่หลายฝ่ายกำลังจับตาว่าน่าจะเป็น “วาระจุดชนวน” เปิดศึกการค้าอย่างเต็มรูปแบบ คือ การตัดสินใจของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนนี้ เกี่ยวกับการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากอียู เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับอียู

หวั่นเทรดวอร์ มะกัน-อียู ทำโลกป่วน จับตาขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ พ.ย.นี้

 

อียูลั่นพร้อมตอบโต้

 นางเซซิเลีย มาล์มสตรอม กรรมาธิการการค้าของอียู แม้จะยืนกรานว่า การคุกคามประเทศคู่ค้าด้วยมาตรการทางภาษีไม่ใช่ทางของอียู แต่หากสหรัฐฯเริ่มก่อน อียูก็พร้อมจะตอกกลับด้วยวิธีการเดียวกัน  ดังนั้น นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจาก

อียูในอัตราสูงขึ้น เช่น กรณีเหล็ก กล้าและอะลูมิเนียมเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 อียูก็จะตอบโต้ด้วยบัญชีรายการสินค้าของสหรัฐฯ ที่อียูจะเรียกเก็บภาษีเพิ่มแบบสวนหมัดไม่ให้เสียเปรียบกัน

 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ทั้งสหรัฐฯ และอียูไม่อยู่ในสถานะที่พร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดสงครามการค้ากันเต็มรูปแบบ 

เฟรดเดอริก เอริกสัน ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัย ECIPE ให้มุมมองว่า ปัจจุบันการเปิดศึกการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็เริ่มส่งผลกระทบที่ขยายวงกว้าง และสร้างความสูญเสียให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มากอยู่แล้ว (แม้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะอ้างมาตลอดว่า จีนจะต้องเป็นฝ่าย “จ่าย” ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น) ถ้าหากปลายปีนี้ สหรัฐฯ ตัดสินใจเดินหน้าเปิดแนวรบการค้าอีกด้านกับอียู ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสูงขึ้นอีก ก็จะส่งผลฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายที่ชะลอตัวอยู่แล้วให้ต้องทรุดลงไปอีก

 ข้อมูลกลางปีนี้ (ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม) ชี้ว่า เศรษฐกิจของยูโรโซน (กลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินยูโร) ขยายตัวในไตรมาส 2 ด้วยอัตราเพียง 0.2% เท่านั้น ลดลงจาก 0.4% ในไตรมาสแรก ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ต้องเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ออกมารับมือ ขณะที่สหรัฐฯ เอง เศรษฐกิจในไตรมาส 2 ขยายตัวลดลง 1% จากไตรมาสแรกมาอยู่ที่อัตราเพียง 2.1% เป็นผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องหั่นดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

 ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ

 นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถ้าหากสหรัฐฯและอียูเริ่มเปิดฉากสาดมาตรการภาษีใส่กัน สิ่งที่ตามมาซึ่งจะเป็นผลกระทบที่รุนแรงและชัดเจนที่สุดคือ ต้นทุนสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นที่จะกระทบต่อผู้บริโภคในที่สุด รวมทั้งต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากรูปแบบธุรกิจของบริษัทข้ามชาติในปัจจุบันมีห่วงโซ่การผลิตที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงกันในหลายประเทศ ทำให้กำแพงภาษีที่เกิดขึ้นสร้างผลกระทบกับทุกฝ่าย “ยกตัวอย่างกรณีสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ บริษัทข้ามชาติที่เข้าไปลงทุนทั้งในจีนและสหรัฐฯ ต่างได้รับผลกระทบในห่วงโซ่การผลิต และต่างก็ทำกำไรลดน้อยลง” เอริก โจนส์ ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัย จอห์นส์ ฮอปกินส์ ให้ความเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เข้าไปลงทุนประกอบสินค้าในจีนมีเป็นจำนวนมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่สงครามภาษีระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะมีผลฉุดรั้งให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เองพลอยชะลอตัวลงด้วย

 ฉะนั้น หากเปิดศึกอีกด้านกับอียูในเวลานี้ สหรัฐฯ อาจต้องเจ็บหนัก ข้อมูลจากหน่วยงานของอียูชี้ว่า สินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ ไปยังอียูในปี 2561 ได้แก่ เครื่องยนต์และมอเตอร์ เครื่องบินและอุปกรณ์ต่างๆ เกี่ยวกับอากาศยาน ยาและอุปกรณ์การแพทย์ ส่วนการนำเข้าจากอียู สินค้าอันดับต้นๆ ได้แก่ รถยนต์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ด้านการแพทย์ กำแพงภาษีที่สูงขึ้นจะทำให้บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ของสหรัฐฯ เอง อยู่ในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บรายแรกๆ ของสงครามการค้า นอกจากนี้ ข้อได้เปรียบต่างๆ ที่สหรัฐฯ เคยมีเคยได้และเป็นกุญแจความสำเร็จในการบุกตลาดต่างประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็จะสูญเสียไป ตลาดใหญ่ที่บริษัทอเมริกันเคยมีก็จะปรับลดหดลง และยังจะต้องสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งอีกด้วย

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3518 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2562